ชาวจีนเชื่อว่า สรรพสิ่งทุกอย่างในโลกนั้นล้วนมีต้นกำเนิดมาจากธาตุทั้ง 5 ซึ่งอาจผสมกันขึ้นมาในอัตราส่วนที่ไม่เหมือนกัน โดยธาตุทั้ง 5 นั้นประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุทอง ธาตุน้ำ ธาตุไม้ และธาตุไฟ

ขณะที่โหราศาสตร์ไทยนั้นเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งนั้นมาจากหลักการธาตุทั้ง 4 ธาตุ นั่นคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลักการของชาวจีนและไทยนั้นแตกต่างกัน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าระบบธาตุของภูมิปัญญาจีนกับภูมิปัญญาไทยนั้นไม่ได้มีหลักสอดคล้องกันนั่นเอง

คนบางคนดูดวงโหราศาสตร์ไทยแล้วเป็นคนธาตุดิน แต่ดูดวงในโหราศาสตร์จีนแล้วอาจเป็นคนธาตุไฟได้ เนื่องจากคำว่าธาตุต่างๆ สำหรับโหราศาสตร์จีนกับไทยนั้นมีหลักพิจารณาที่แตกต่างกัน

ดังนั้นการใช้หลักโหราศาสตร์ไทยมาประยุกต์ใช้หลักภูมิปัญญาจีน เช่น ดวงจีน ฮวงจุ้ย ฤกษ์ยามจีน จับยามเสี่ยงทายแบบจีน ฯลฯ จึงไม่สอดคล้องกัน

ตารางการแบ่งธาตุวัตถุต่างๆ ตามรูปแบบพลังงาน วัตถุธาตุ สี รูปทรงวัตถุ

โดยธาตุทั้ง 5 ของจีนนั้นมีความหมายดังนี้

ธาตุดิน หมายถึง ความอดทน หนักแน่น เนื่องจากดินเป็นสิ่งที่รองรับสรรพสิ่งทุกอย่างบนโลก และสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วก็ต้องกลับคืนสู่ดิน นอกจากนี้ธาตุดินยังหมายถึง ความมั่นคง ซื่อสัตย์ ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นอยู่ หรือความไม่เปลี่ยนแปลง ดังเช่นภูเขาหินที่หนักแน่น ส่วนในเชิงวัตถุ ธาตุดิน หมายถึง ดินเผา อิฐ คอนกรีต ปูน ทราย เซรามิก หิน แร่ธาตุ หนัง เป็นต้น

ธาตุทอง หมายถึง โลหะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ทอง เงิน ทองแดง ทองเหลือง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท อะลูมิเนียม แมกนีเซียม สเตนเลส ไทเทเนียม ฯลฯ เนื่องจากโลหะเป็นของที่แข็ง ดังนั้นธาตุทองจึงมีความหมายถึง ความแข็งแกร่ง หนักแน่น โลหะนั้นมักใช้ทำเป็นวัสดุสำหรับสิ่งของที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว เช่น เครื่องจักร มอเตอร์ รถยนต์ ดังนั้นธาตุทองจึงเปรียบเสมือนความคล่องแคล่วว่องไว และรวดเร็ว นอกจากนี้โลหะยังแหลมคมและเป็นสิ่งที่ตัดสิ่งอื่นๆ ให้ขาดได้ จึงมองว่าธาตุทองคือการตัดสินใจอันเฉียบคมนั่นเอง ส่วนในเชิงวัตถุ ธาตุทอง หมายถึง โลหะทุกประเภท รวมถึงสิ่งของที่ทำด้วยโลหะ เช่น นาฬิกา เครื่องจักร อาวุธ มีด ดาบ รถยนต์ เป็นต้น

ธาตุน้ำ หมายถึง ปัญญา ความคิดที่ลึกซึ้งเหมือนน้ำที่มีความใส และน้ำนั้นยิ่งลึกก็ยิ่งมองไม่เห็นหรือมืดสนิท จึงเปรียบเหมือน ความมืด สิ่งลึกลับ เรื่องลึกลับ ไสยศาสตร์ ผี วิญญาณ ฮวงจุ้ย โหราศาสตร์ เป็นต้น หรืออาจมองถึงการไขปริศนาลึกลับอย่างการสืบสวน สอบสวนก็ได้ ธาตุน้ำยังหมายถึงการพลิกแพลง การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่างๆ ดังเช่นน้ำที่ปรับเข้ากับทุกภาชนะได้ นอกจากนี้น้ำยังเป็นสิ่งที่ไหลไปได้ทุกที่ จึงเปรียบเหมือน การเดินทาง การขนส่ง เรื่องต่างประเทศ ฯลฯ ส่วนในเชิงวัตถุ ธาตุน้ำ หมายถึง น้ำจริงๆ หรือผลิตภัณธ์ที่มาจากน้ำ เช่น น้ำแข็ง น้ำ ไอศกรีม เกลือ อาหารทะเล เป็นต้น

ธาตุไม้ หมายถึง การพัฒนาอย่างไม่มีสิ้นสุด เหมือนต้นไม้ที่เติบโตเรื่อยๆ จึงหมายถึง วิชาการ ความรู้ที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ธาตุไม้ยังเกี่ยวกับศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการที่กว้างไกล เหมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาไปได้เรื่อยๆ นอกจากนี้ธาตุไม้ก็คือความเมตตากรุณา เปรียบเสมือนต้นไม้ให้ร่มเงาต่อคนและสัตว์ และต้นไม้นั้นยังรักษาเยียวยาตัวเองได้ จึงมองธาตุไม้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาคนป่วยหรือการแพทย์ได้อีกด้วย ส่วนในเชิงวัตถุ ธาตุไม้ หมายถึง สิ่งของที่เป็นไม้จริงๆ หรือเป็นผลผลิตมาจากไม้ เช่น ไม้แปรรูป ดอกไม้ ใบชา สมุนไพร กระดาษ หนังสือ เส้นใย ผ้า เป็นต้น

ธาตุไฟ หมายถึง ความโดดเด่น ชื่อเสียง การแสดงออก การให้ความอบอุ่น กระตือรือร้น เหมือนกับพระอาทิตย์ที่มีแสงโดดเด่น ลุกโชติช่วงอยู่ตลอดเวลาและให้ความอบอุ่นแก่สรรพสิ่งบนโลก นอกจากนี้ยังเปรียบเสมือนการให้ความกระจ่าง ชัดเจน ตรงประเด็น เหมือนไฟที่ส่องนำทางให้เห็นสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน ส่วนในเชิงวัตถุ ธาตุไฟ คือ ปิโตรเคมี พลังงาน พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า อาวุธสงคราม น้ำมัน แก๊ส เป็นต้น

ความเป็นจริง สิ่งต่างๆ นั้นอาจไม่ได้มีธาตุเพียงธาตุเดียว แต่มีหลายธาตุผสมกันอยู่ในตัว เพียงแต่ธาตุแต่ละธาตุนั้นมีสัดส่วนมากน้อยไม่เท่ากัน

ยกตัวอย่างประเภทสิ่งของหรือวัตถุ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนประกอบของวัตถุที่ทำจากโลหะซึ่งเป็นธาตุทอง แต่วัตถุชนิดนี้มีพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นธาตุไฟ ดังนั้นวัตถุนี้ก็มีพลังงานธาตุ 2 ธาตุนี้ผสมกันอยู่ ซึ่งสามารถมองเป็นธาตุที่ผสมกันได้

นอกจากนี้ในส่วนของอาชีพก็เป็นธาตุผสมได้เช่นกัน เช่น อาชีพนักดับเพลิง สามารถมองเป็นอาชีพธาตุไฟเพราะทำงานเกี่ยวข้องกับไฟ แต่นักดับเพลิงก็ใช้น้ำในการดับไฟ จึงสามารถมองว่าอาชีพนี้มีส่วนผสมของธาตุไฟและธาตุน้ำปะปนกันอยู่ เพียงแต่อาจมองว่า สำหรับอาชีพนี้ มีธาตุไฟเป็นส่วนผสมมากกว่าธาตุน้ำ

นอกจากนี้ สิ่งของบางอย่าง หรืออาชีพบางอาชีพ อาจมีธาตุผสมกันมากกว่า 2 ธาตุขึ้นไป ก็ได้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราสามารถแยกวัตถุต่างๆ ว่าเป็นธาตุใด โดยดูจากวัตถุธาตุ สี รูปทรง รูปแบบการเคลื่อนไหวของพลังงาน จาก ตารางการแบ่งธาตุวัตถุต่างๆ ตามรูปแบบพลังงาน วัตถุธาตุ สี รูปทรงวัตถุ ข้างต้น

Related Posts

ตามช่วงเวลา