FIN: การชงกันของนักษัตร ตอนที่ 1

ที่มาภาพ : shutterstock

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การที่ปีชงกันนั้นมักจะเกิดเรื่องร้ายเสมอ คนที่ปีเกิดชงกับปีนักษัตรต่างๆ นั้นหลายคนถึงขนาดต้องไปสะเดาะเคราะห์กันครั้งใหญ่ บางคนบอกว่าต้องไปไหว้เทพเจ้าไท่ส่วยตามวัดจีนต่างๆ นานา ซึ่งตามหลักการความเป็นจริงแล้ว คนมีปีเกิดชงกับปีนักษัตรต่างๆนั้นก็ไม่ได้เจอเรื่องร้ายไปสักทุกคน

บางคนก็เจอเรื่องร้ายถึงร้ายมากๆ ถึงขนาดเสียชีวิตก็มี แต่บางคนนั้นกลับไม่เจอเรื่องร้ายใดๆ เลย หรือกับบางคนกลายเป็นปีที่โชคดีอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งแบบนี้ก็ไม่อาจพิสูจน์แน่ชัดได้ว่า เมื่อปีเกิดชงกับปีปัจจุบันจะต้องร้ายเสมอ

เพราะคนปีเกิดชงกับปีต่างๆ นั้นมีทั้งโชคดีและโชคร้าย เพราะความจริงแล้ว การที่ “ปีเกิด” ชงกับ “ปีนักษัตร” ต่างๆ นั้นจะดีหรือร้ายมีหลักการคิดแน่นอน ซึ่งจะอธิบายคร่าวๆ ต่อไปในบทความนี้

ปีนักษัตรระกา ชงกับ ปีนักษัตรเถาะ
แต่การชงกันของปีนักษัตรไม่ได้ส่งผลร้ายเสมอไป สามารถส่งผลในทางที่ดีได้เช่นกัน
ที่มาภาพ : shutterstock

อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ปีนักษัตรนั้นเป็นพลังงานของธาตุต่างๆ ที่เปรียบเทียบกับลักษณะที่คล้ายคลึงกับสัตว์ ไม่ได้หมายความถึงสัตว์ประเภทนั้นจริงๆ เช่น

นักษัตรมะเมีย เป็นพลังงานธาตุไฟ เหมือนกองไฟที่สว่างไสว คึกคัก จึงเปรียบธาตุไฟเหมือน ม้า ที่เป็นสัตว์เคลื่อนไหว คล่องแคล่ว คึกคักเช่นกองไฟ แต่มะเมีย ไม่ได้แปลว่า ม้า เป็นแค่พลังงานธาตุไฟที่มีส่วนคล้ายนิสัยที่คึกคักของม้า เพราะถ้ามะเมียคือม้าแล้วคงไม่ต้องตั้งชื่อนักษัตรว่ามะเมีย ก็คงใช้คำว่าม้าแทนเลยง่ายกว่า

ในภาษาจีน เรียกปีนักษัตรมะเมียว่า “โง่ว” เรียกคำว่าม้าว่า “เบ้” ซึ่งก็เป็นคนละคำกัน (เช่นเดียวกับในภาษาไทย ที่ใช้คำว่า มะเมีย กับ ม้า) ดังนั้น ปีนักษัตรแต่ละปีจึงไม่ได้หมายความถึงสัตว์ชนิดนั้นจริงๆ เป็นเพียงการเปรียบเทียบพลังงานของธาตุกับลักษณะนิสัยสัตว์เท่านั้น

มีคนเคยบอกไว้ว่า คนเกิดปีขาลหรือปีเสือจะเป็นคนดุ คนเกิดปีเถาะหรือปีกระต่ายแล้วลูกจะดก ทั้งหมดนั้นล้วนแต่ไม่เป็นความจริง เพราะนักษัตรขาลกับเถาะนั้นเป็นธาตุไม้ โดยพลังงานธาตุไม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้เป็นคนดุหรือลูกดก ดังนั้นความเชื่อที่บอกว่าเกิดปีนักษัตรไหนแล้วจะมีนิสัยเหมือนสัตว์ชนิดนั้นก็ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว คนเกิดปีมะโรงหรือมังกรจะมีนิสัยอย่างไรคงไม่มีใครอธิบายได้ เพราะไม่มีใครเคยเห็นมังกรจริงๆ ไม่มีใครรู้ว่าสัตว์ชนิดนี้มีนิสัยอย่างไร

ทั้งนี้ เราสามารถแบ่ง 12 ปีนักษัตร เป็นธาตุต่างๆ ได้ตามตารางด้านล่างนี้

จากข้อมูลในตารางจะเห็นได้ว่า นักษัตร ชวด ชงกับ มะเมีย และ มะเส็ง ชงกับ กุน นั่นคือ การปะทะระหว่างธาตุน้ำกับธาตุไฟ ซึ่งอย่างที่รู้กันคือน้ำนั้นใช้ดับไฟ ส่วนปีนักษัตร ขาล ชงกับ วอก และ เถาะ ชงกับ ระกา นั่นคือการปะทะกันระหว่างธาตุไม้กับธาตุทอง โดยสิ่งของที่ใช้ตัดไม้นั้นจะทำจากโลหะเสมอ เช่น ขวาน เลื่อย ฯลฯ

ส่วนฉลู ชงกับ มะแม และ มะโรง ชงกับ จอ นั่นเป็นการปะทะกันเองระหว่างธาตุดินแต่ละประเภท กล่าวคือ ฉลู เป็นดินเลน ปะทะกับ มะแม ที่เป็นดินร้อนแห้ง หรือดินมะโรงที่มีความอุดมสมบูรณ์ ก็ชงกับดินจอที่เป็นแห้ง ดังนั้นการชงหรือปะทะกันก็ทำให้ดินแต่ละประเภทเสียสภาพในตัวเอง

ทั้งนี้ คู่ชงกันระหว่าง ชวด (ธาตุน้ำ) กับ มะเมีย (ธาตุไฟ) และ เถาะ (ธาตุไม้) กับ ระกา (ธาตุทอง) มักจะส่งผลรุนแรงเกี่ยวกับชีวิต สุขภาพ และความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน ส่วนคู่ชงระหว่าง ขาล (ธาตุไม้) กับ วอก (ธาตุทอง) และ มะเส็ง (ธาตุไฟ) กับ กุน (ธาตุน้ำ) มักจะส่งผลเกี่ยวกับการโยกย้าย เดินทาง

ส่วนคู่ชงของ มะโรง กับ จอ และ ฉลู กับ มะแม มักจะเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ผลกระทบจะน้อยกว่าคู่อื่นเพราะเป็นธาตุดินชนกันเอง หากสรุปคร่าวๆ แล้ว การชงกันนั้นก็คือการปะทะกันระหว่างธาตุนั่นเอง

ภาพแสดง การควบคุมและพิฆาตพลังระหว่างธาตุ

ทว่าการชงกันของนักษัตรนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นเรื่องร้ายเสมอไป คำว่า “ชง” ความหมายคือ “ปะทะ” ซึ่งส่งผลให้เกิดผลดีหรือร้ายก็ได้ บางคนเจอปีชงก็ร้าย แต่บางคนกลับกลายเป็นอะไรก็ดีไปหมด

ทั้งนี้การพิจารณาว่าจะเกิดผลดีหรือร้ายอย่างไรนั้น อยู่ที่ปฏิกิริยาของธาตุที่เข้ามาชง ยกตัวอย่างปี 2553 เป็นปีขาล (ธาตุไม้) ก็จะชงกับคนเกิดปีวอก (ธาตุทอง หรือธาตุโลหะ) เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ถูกขวานโลหะฟัน ตัวต้นไม้เองก็เสียสภาพเพราะโดนขวานฟัน และเมื่อขวานโลหะฟันไม้มากๆ ขวานก็บิ่น เสียสภาพได้เช่นกัน

ซึ่งหากดวงคนนั้นชอบธาตุไม้ หรือธาตุไม้ให้คุณ แล้วก็ไม่ชอบธาตุทอง โดยธาตุทองเป็นธาตุให้โทษกับดวง แต่เป็นคนเกิดปีวอกซึ่งเป็นปีธาตุทอง ก็จะทำให้คนคนนั้นมีพลังงานธาตุทองในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ธาตุจากปีเกิดที่ติดตัวมาเป็นพลังที่ให้โทษในเนื้อดวงเพราะดวงไม่ชอบธาตุทอง

พอถึงช่วงปีขาลซึ่งเป็นพลังปีแห่งธาตุไม้ที่เข้ามาชงกับพลังของปีเกิดปีวอกที่เป็นธาตุทอง ผลของการชงก็ไม่ได้เป็นผลร้าย แต่เป็นผลดี เพราะว่าขาลเป็นธาตุไม้ หรือธาตุที่ให้คุณ เข้ามาทำลายวอกที่เป็นธาตุทองที่ให้โทษในตัวคนนั้นออกไป ดังนั้นกรณีของคนนี้ การชงกันของปีก็จะไม่ได้รับผลร้าย แต่กลับกลายเป็นผลดีไป

แต่ถ้ามองกลับกัน ถ้าคนนี้เป็นคนไม่ชอบธาตุไม้ แต่ชอบธาตุทองแล้ว การชงกันก็ส่งผลรุนแรง เพราะเท่ากับว่าขาลเป็นธาตุไม้ที่ให้โทษเข้ามาทำลายวอกที่เป็นธาตุทองที่ให้คุณในดวงออกไป การชงกันแบบนี้ก็จะส่งผลร้ายอย่างแน่นอน

จึงสรุปได้ว่า การชงกัน แปลว่า มีการปะทะกันของธาตุ จะก่อให้เกิดเรื่องเปลี่ยนแปลงขึ้นในปีนั้นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องร้ายเสมอตามความคิดคนทั่วไป ซึ่งผลดีหรือร้ายอยู่ที่รูปแบบของดวงคนนั้นว่าชอบหรือไม่ชอบธาตุใดๆ บ้าง

ส่วนการแก้ดวงจากการชงกัน หลายคนเข้าใจว่าการแก้ดวงคือการสะเดาะเคราะห์ต่างๆ นานา ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะปล่อยปลา ปล่อยสัตว์สักกี่ล้านตัว หรือทำบุญต่างๆ นานา ต่างก็ไม่ได้เป็นการแก้ของพลังงานของธาตุต่างๆ เพียงแต่เป็นการทำให้เกิดบุญกุศลที่ดีให้มาช่วยเหลือตัวเราให้ชีวิตดีขึ้น แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกับพลังงานธาตุ

ยกตัวอย่าง 12 นักษัตรของรอบปีซึ่งอธิบายที่มาได้จากการโคจรของดวงดาว เช่น พระจันทร์มีขนาดเล็กกว่าโลกมหาศาลแต่พระจันทร์ก็มีแรงดึงดูดกำหนดน้ำขึ้นและน้ำลงในโลกได้ ดังนั้นดาวเคราะห์ดวงอื่นที่อยู่ในจักรวาลก็มีแรงดึงดูดที่มีอิทธิพลต่อโลกเช่นกัน โดยเฉพาะดาวพฤหัสบดีที่เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่สุดในระบบสุริยะ หรือมีมวลมากกว่าโลกประมาณ 400 เท่า ย่อมมีอิทธิพลต่อโลกมหาศาล

โดยหลักการคือโลกใช้เวลาหมุนรอบดวงอาทิตย์ 1 ปี ขณะที่ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นเวลา 12 ปี ดังนั้นทุก 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์จะมีองศาที่เกิดแรงดึงดูดกับดาวพฤหัสบดีต่างกันโดยมีทั้งหมด 12 รูปแบบ เนื่องจากจากดาวพฤหัสบดีใช้เวลาหมุนรอบดวงอาทิตย์ 12 ปี เหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของ 12 นักษัตรของรอบปี หรือที่เราท่องกัน ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน นั่นเอง

ภาพเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย
ที่มาภาพ : shutterstock

ย้ำกันอีกครั้ง การทำบุญ หรือสะเดาะเคราะห์ต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพลังงานของแรงดึงดูดของดวงดาวเลย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นการแก้ไขการชงกันของพลังงานรอบปีได้ เพียงแต่เป็นการสร้างและสะสมกุศลผลบุญให้ชีวิตคนเราดีขึ้นเท่านั้น

ส่วนบางคนที่เชื่อศาสตร์จีนก็บอกว่าให้ไปวัดจีน ไหว้เทพเจ้าไท้ส่วย ซึ่งคำว่าไท้ส่วย แท้จริงแล้วแปลว่าดาวพฤหัสบดี เปรียบเสมือนเราไปไหว้ดาวพฤหัสบดี ซึ่งมันไม่น่าจะแก้ไขดวงให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากดาวทุกดวงในสุริยะจักรวาลนั้นมีการโคจรในระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน เช่น

ดาวพฤหัสบดีโคจรในปี 2553 เป็นปีขาล แล้วเราจะไหว้ให้ดาวนั้นเปลี่ยนหมุนไปเป็นปีเถาะเลยก็คงไม่ได้ ดังนั้นการไปไหว้เทพเจ้าก็เป็นเพียงสิ่งใช้เตือนตัวเองเท่านั้นว่าปีนี้เป็นปีชง เพื่อให้ระวังเรื่องร้าย โดยการชงกันของนักษัตรเกิดจากการโคจรของดวงดาวที่ชัดเจนแน่นอน จึงเรียกได้ว่าเป็นฟ้าลิขิต ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะอย่างไรดาวก็ต้องหมุนตามวงโคจรของดาวตามนั้น

ซึ่งหากคนคิดว่าการไปไหว้เจ้าหรือสะเดาะเคราะห์ต่างๆ แล้วชีวิตจะดีขึ้นแน่นอน ก็เท่ากับว่าคนนั้นใช้ชีวิตตั้งอยู่บนความประมาท ไม่รอบคอบ

จากที่กล่าวมานั้นสรุปได้ว่า การชงกันเป็นการปะทะกันของปฏิกิริยาของธาตุ ซึ่งผลดีหรือผลร้ายจากการชงกันนั้นต้องขึ้นอยู่กับรูปดวงคน ทั้งนี้การแก้ไขการชงหรือปะทะของพลังงานไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสะเดาะเคราะห์ต่างๆ หรือไหว้เทพเจ้าต่างๆ นานา เพราะการชงคือการปะทะกันของปฏิกิริยาธาตุต่างๆ ซึ่งหากจะแก้ไขจริงๆ ก็คงต้องใช้การแก้ไขด้วยปฏิกิริยาธาตุเช่นเดียวกัน

โดยการใช้ธาตุของสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาเสริม เพราะเป็นพลังงานที่คนนั้นสามารถสัมผัสรับรู้ได้ เช่น วัตถุต่างๆ ก็มีธาตุ เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย เป็นธาตุดิน โลหะต่างๆ เป็นธาตุทอง น้ำเป็นธาตุน้ำ ต้นไม้ เส้นใยผ้า กระดาษ เป็นธาตุไม้ และพลาสติก ปิโตรเคมี เป็นธาตุไฟ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นธาตุที่ใช้ในวิชาฮวงจุ้ย ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความอื่นๆ ในเว็บไซต์

Related Posts

ตามช่วงเวลา