FIN: การชงกันของนักษัตร ตอนที่ 2

ที่มาภาพ : shutterstock

คนส่วนมากเข้าใจว่า 12 นักษัตร (ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วก ระกา จอ กุน) เป็นการระบุปีต่างๆ ความจริงแล้ว ปี เดือน วัน ยาม นั้นสามารถระบุเป็นวันนักษัตรต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งสมัยก่อนในประเทศจีนก็ระบุวัน เดือน ปี และยามเกิด ของคนเป็นนักษัตรหรือธาตุ แทนที่จะเป็นเวลาระบบตัวเลขอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เช่น วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เวลา 04.40 น. ในประเทศจีนจะระบุเป็น ปีขาล เดือนมะเส็ง วันมะโรง ยามขาล แทน ดังนั้นเมื่อเดือน วัน และยามเกิดนั้นสามารถแจกแจงเป็นนักษัตรต่างๆ ได้ แทนที่จะเป็นปีอย่างเดียวที่แจกแจงได้ ก็หมายความว่าไม่ได้มีแค่ “ปีชง” อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเดือนชง วันชง และยามที่ชง กับดวงของคนด้วย ซึ่งเราสามารถจำแนกษัตรต่างๆ ได้ตามช่วงเวลาดังต่อไปนี้

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า แต่ละนักษัตรสามารถระบุเป็นเวลาและเดือนได้ด้วย เช่น

  • ถ้าเกิดในช่วงเวลา 07.00-8.59 น. เท่ากับว่าคนนี้เกิดเวลามะโรง
  • ถ้าเกิดในช่วงเวลา 15.00-16.59 น. เท่ากับว่าคนนี้เกิดเวลาวอก
  • ส่วนเดือนเกิด ถ้าเกิดเดือนตุลาคมในช่วงวันที่ ช่วง 8 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน เท่ากับคนนี้เกิดเดือนจอ
  • แต่ถ้าเกิดวันที่ 5 ตุลาคม ถือว่าเกิดเดือนระกา เนื่องจากศาสตร์จีนนั้น การเริ่มเปลี่ยนเดือนใหม่ไม่ได้เริ่มตรงกับวันที่ 1 ของเดือนใหม่ทุกครั้ง แต่จะเริ่มนับว่าสิ้นสุดเดือนกันยายน (เดือนระกา) และเข้าเดือนตุลาคม (เดือนจอ) ประมาณวันที่ 8 ของเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ เวลา กับ เดือน ได้ระบุตามนักษัตรตามตารางข้างต้นนี้ได้ ส่วนการระบุนักษัตรของปีนั้น ก็สามารถนับเรียงลำดับตามนักษัตรทั่วไป เช่น ปี 2552 ก็ปีฉลู (ปีวัว) ส่วนปี 2553 คือปีขาล (ปีเสือ) ส่วนปีถัดไป 2554 ก็เป็นปีเถาะ (ปีกระต่าย) ซึ่งเรียงลำดับตามนักษัตรไป

อย่างไรก็ตาม การจะนับเริ่มปีใหม่ของศาสตร์จีนจะเริ่มนับขึ้นปีใหม่ประมาณวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นระบบสุริยคติ (ไม่ได้นับตามวันตรุษจีนเป็นวันเริ่มปีใหม่ เพราะตรุษจีนใช้การคำนวณอ้างอิงจากดวงจันทร์ หรือระบบจันทรคติเป็นหลัก) ดังนั้น หากคนเกิดวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553 จะถือว่าคนนี้จะยังเกิดปีฉลู (ปีวัว) อยู่ จะไม่ใช่ปีขาล (ปีเสือ) แม้เกิดปี พ.ศ. 2553 ก็จริง แต่เกิดก่อนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของปี จึงยังไม่นับว่าเป็นรอบปีใหม่

ส่วนที่การระบุนักษัตรในแต่ละวันนั้นจะคำนวณได้ยากกว่า โดยถ้าต้องการรู้ว่าเกิดวันตรงกับนักษัตรอะไร จะต้องเปิดปฏิทินจีนเพื่อทำการเทียบดู

เมื่อเราสามารถหา ปี เดือน วัน ยาม เป็นนักษัตรคร่าวๆ ได้ก็สามารถเข้าใจหลักการชงกันได้มากขึ้น โดยการชงกันนั้นไม่ได้มีผลเฉพาะปีชงกันอย่างเดียว แต่การชงนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น

  • นักษัตรของปีจร* ชงกับปีเกิด ปีจรชงเดือนเกิด ปีจรชงวันเกิด ปีจรชงยามเกิด
  • เดือนจรชงปีเกิด เดือนจรชงเดือนเกิด เดือนจรชงวันเกิด เดือนจรชงยามเกิด
  • วันจรชงปีเกิด วันจรชงเดือนเกิด วันจรชงวันเกิด วันจรชงยามเกิด
  • ยามจรชงปีเกิด ยามจรชงเดือนเกิด ยามจรชงวันเกิด ยามจรชงยามเกิด ยกตัวอย่างคร่าวๆ
    (* จร หมายถึง การเคลื่อนที่)
    • ปี 2553 เป็นปีจรเป็นปีขาล ก็จะชงกับคนที่เกิดปีวอกอย่างที่หลายคนเข้าใจกันอยู่แล้ว แต่ปีขาลก็จะสามารถชงกับคนที่เกิดเดือนวอก หรือเดือนสิงหาคม (ช่วง 7 สิงหาคม – 8 กันยายน) ชงกับคนที่เกิดวันวอก และเกิดยามวอก (เวลา 15.00-17.59 น.) ได้อีกด้วย ซึ่งคนที่มี ปี เดือน วัน ยามเกิด นักษัตรวอก ก็จะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการชงกันของนักษัตร
  • ยกตัวอย่างอีกสัก 1 ตัวอย่าง : นักษัตรเดือนจร ชงกับนักษัตรของปี เดือน วัน ยามเกิดคน เช่น
    • ช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นเดือนเถาะ เมื่อถึงเดือนมีนาคมทุกครั้งก็จะเกิดการชงกันระหว่างนักษัตรเถาะของเดือนนี้กับนักษัตรระกา ดังนั้นคนที่เกิดปีระกา เดือนระกา หรือเดือนกันยายน (ช่วง 8 กันยายน – 8 ตุลาคม) วันระกา และ ยามระกา (เวลา 15.00-17.59 น.) ก็จะมีโอกาสได้รับผลกระทบของการชงกันของนักษัตรเถาะกับระกาทุกๆ ครั้งในเดือนมีนาคม

ส่วนผลกระทบของการถูกชงของนักษัตรสำหรับนักษัตรหลัก ปี เดือน วัน หรือยามนั้นก็มีผลแตกต่างกัน

  • หากนักษัตรหลักปีเกิดถูกชง เช่น เกิดปีวอก แต่นักษัตรปีจรของปี 2553 ที่เป็นปีขาล หรือนักษัตรของเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนขาล เข้ามาชงก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของดวงในเรื่องบ้าน ทิ่ดิน นา สวน มรดกตระกูล เรื่องจากทางไกล เช่น เดินทาง ลงทุนทางไกลทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ เรื่องเกี่ยวกับผู้หลักผู้ใหญ่ ฯลฯ
  • หากนักษัตรหลักเดือนเกิดถูกชง เช่น เกิดเดือนวอก (เกิดช่วง 7 สิงหาคม – 8 กันยายน) แต่ถูกนักษัตรปีจรปีขาลหรือเดือนจรเดือนขาลมาชง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของดวงเรื่องการงาน ความรับผิดชอบ การควบคุมสติ ฐานะสังคม ตำแหน่ง ผู้นำ เจ้านาย ฯลฯ
  • หากนักษัตรหลักวันเกิดถูกชง เช่น เกิดวันวอกแต่ถูกนักษัตรปีจรปีขาล หรือเดือนจรเดือนขาลมาชง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของดวงเรื่องคู่ครอง ชีวิตสมรส ที่อยู่อาศัยปัจจุบัน หุ้นส่วนธุรกิจ ฯลฯ
  • หากนักษัตรหลักยามเกิดถูกชง เช่น เกิดยามวอกเวลาประมาณ 15.00-16.59 น. แต่ถูกนักษัตรปีจรปีขาล หรือเดือนจรขาลเข้ามาชงก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องบุตร หลาน บริวารลูกน้อง สัตว์เลี้ยง ยานพาหนะ การเดินทางระยะสั้น ความฝัน ความปรารถนา รสนิยม ฯลฯ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงจากการถูกชงนั้นไม่ได้ร้ายเสมอไป บางครั้งก็เป็นผลดีได้ ซึ่งตรงนี้ได้กล่าวไปในบทความ “การชงกันของนักษัตร ตอนที่ 1” จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมาเป็นการพิจารณาหลักการชงหรือปะทะกันของธาตุเบื้องต้นเพื่อให้คนทั่วไปสามารถเช็กดวงตนเองคร่าวๆ พอได้

ซึ่งอันที่จริงแล้ว หลักการชงนั้นอาจจะไม่เกิดการเปลี่ยนก็ได้ เพราะหลักการวิเคราะห์ดวงจีนยังมีหลักการอื่นๆ หรือปฏิกิริยาอื่นๆ ที่จะต้องพิจารณาและให้ความสำคัญมากกว่าการชงกันของนักษัตร เช่น หลักการของไตรทิศ ไตรภาคี ซำเฮ้ง ฮะ กันของนักษัตร ซึ่งหลักการหรือปฏิกิริยาเหล่านี้ก็จะทำให้การชงกันของธาตุนั้นไม่สำเร็จ จึงทำให้ดวงบางคนเจอปีจร เดือนจร วันจร หรือยามจร มาชงแล้วไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในชีวิต

Related Posts

ตามช่วงเวลา