FIN: ฮวงจุ้ยห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกย่านสี่แยกปทุมวัน

ที่มาภาพ : shutterstock

MBK มาบุญครอง เรียกได้ว่าเป็นจุดฮวงจุ้ยที่ดีสุดห้างหนึ่งในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ห้างนี้ดีมีดังนี้

  1. ห้างอยู่ใกล้บริเวณสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งรถไฟฟ้าบีทีเอสจะลากพลังงานมาหยุดที่สถานี ทำให้เกิดพลังงานสะสมบริเวณห้าง

    ภาพมาบุญครองที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า
    ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

  2. Skywalk บริเวณใกล้ห้างเป็นเหมือนลานโล่งที่เป็นชานพักพลังงานที่มาจากผู้คนที่มาจากรถไฟฟ้าเดินผ่านไปมา เรียกได้ว่าเป็นลานสะสมพลังงานอีกชั้นเหนือจากพื้นถนนที่รถวิ่ง แต่ที่สำคัญคือห้างมาบุญครองมีทางเชื่อมจาก Skywalk เข้าหาห้างถึง 2 จุด โดยปกติห้างอื่นก็จะมีจุดเดียว ซึ่งส่งผลให้คนสามารถเดินลากกระแสพลังงานเข้าสู่ห้างได้ง่ายนั่นเอง
  3. ติดสี่แยกปทุมวันที่มีพื้นที่ขนาดกว้าง โล่ง ทำให้พลังงานไหลเวียนได้ดี

    ภาพสี่แยกปทุมวัน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสี่แยกทั่วไป
    ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

  4. ทางเข้าห้าง ตรงข้ามกับทางเข้าออกของสยามสแควร์ มีลักษณะคล้ายทางสามแพร่ง  แต่องศาทิศทางของห้างมาบุญครองนั้นหันในองศาทิศที่ดี จึงส่งผลให้ทางสามแพร่งนี้กระตุ้นพลังงานที่ดีกับห้างนั่นเอง

    ภาพทางสามแพร่งจากฝั่งสยามสแควร์ ตรงข้ามห้างมาบุญครอง
    ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

  5. หน้าอาคารมีลานโล่งขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณหัวมุมอาคาร ส่งผลให้พลังงานที่มากับรถที่วิ่งผ่านมาและพลังงานที่มาจากคนเดิน สะสมบริเวณหน้าห้างได้มาก นอกจากนี้ตัวอาคารยังยกสูงจากถนนน้อยมาก (ซึ่งไม่น่าเกิน 50 ซม.) ทำให้พลังงานไหลเข้าห้างได้ง่ายขึ้น ในทางตรงข้าม ห้างที่ยกสูงจากพื้นเยอะก็จะทำให้พลังงานไหลเข้าสู่ห้างได้ยาก

    ภาพลานโล่งด้านหน้าห้างมาบุญครอง
    ที่มาภาพ : shutterstock

  6. สะพานลอยเชื่อมไปสยามสเคป (โบนันซ่าเก่า)​ ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้คนเดินลากกระแสพลังงานเข้าห้างได้ง่าย

    ภาพสะพานลอยเชื่อมจากฝั่งสยามสแควร์เข้าห้างมาบุญครอง
    ที่มาภาพ​ : shutterstock

  7. ห้างอยู่บริเวณทำเลทางก่อนถึงสี่แยก ทำให้รถที่วิ่งมา ต้องหยุดเพราะรถติดบริเวณสี่แยกซึ่งเป็นหน้าห้างจึงทำให้พลังงานที่รถวิ่งลากมาหยุดสะสมตัวบริเวณหน้าห้าง


    ภาพตำแหน่งห้างมาบุญครองบริเวณสี่แยกปทุมวัน
    ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

  8. ตำแหน่งกลับรถที่บริเวณที่แยกปทุมวันซึ่งปกติสี่แยกทั่วไปจะไม่มีจุดกลับรถ จำนวนรถที่วิ่งมาบนถนนพญาไทจากบริเวณสามย่านที่จะเข้าสยามสแควร์มีจำนวนมากซึ่งช่วยดึงพลังงานมามากด้วย โดยรถที่ต้องการวิ่งเข้าสยามสแควร์ก็จำเป็นต้องมากลับรถที่บริเวณสี่แยกนี้เพื่อจะเลี้ยวเข้าสยามสแควร์ จึงทำให้รถต้องลากพลังงานมาผ่านหน้าห้างมาบุญครองได้มาก

    ภาพแสดงตำแหน่งกลับรถเข้าสยามสแควร์บริเวณหน้าห้างมาบุญครอง
    ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

  9. รางรถไฟฟ้าเหนือสี่แยกปทุมวันช่วยกักพลังงาน โดยรางรถไฟฟ้าบริเวณนี้เป็นเหมือนคานช่วยกดพลังงานจากรถที่วิ่งมาจากถนนพญาไท ด้านสามย่าน ไปทางราชเทวี ทำให้พลังงานนั้นถูกกักไว้บางส่วนบริเวณสี่แยกซึ่งก็ตรงกับบริเวณหน้าห้างมาบุญครองนั้นเอง

    ภาพแสดงตำแหน่งรางรถไฟที่ดักพลัง
    ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA


Siam Discovery

ทำเลบริเวณสยามดิสคัฟเวอรี่ถือว่าเป็นจุดที่ดีอีกจุดหนึ่ง เนื่องจากอยู่บริเวณหัวมุมของสี่แยกปทุมวันเลย เรียกได้ว่าพลังงานที่มาจากรถนั้นมีโอกาสเข้าสู่อาคารได้ง่าย เพราะรถที่วิ่งมาจะมาติดไฟแดงบริเวณสี่แยก หรือชะลอเพื่อเลี้ยวเข้าสู่ถนนเส้นพระราม 1 จึงทำให้พลังงานสะสมบริเวณนี้ได้ดี แต่มีข้อเสียคืออาคารยกจากระดับถนนสูงเกินไป ทำให้พลังงานจากถนนที่รถวิ่งผ่านมาเข้าสู่ประตูทางเข้าชั้นล่างอาคารได้ยาก

ส่วนพลังงานจากลาน Skywalk นั้นก็เข้าสู่ห้างได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากประตูเข้า-ออกห้างจาก Skywalk อยู่ในระดับที่สูงกว่าแนวทางเดินบน Skywalk พอสมควร และทางเชื่อมเป็นทางเดินเลี้ยว ไม่ใช่ทางตรง จึงทำให้พลังงานเข้าสู่ห้างได้ไม่ง่ายเหมือนทางเดินตรง

ภาพแสดงตำแหน่งห้างสยามดิสคัฟเวอรี่
ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

ภาพแสดงพื้นที่ชั้น 1 ห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ที่ยกสูงจากพื้นถนนมาก
ที่มาภาพ​ : shutterstock


Siam Center

เรียกได้ว่าทำเลนั้นสู้สยามดิสคัฟเวอรี่ไม่ได้ เนื่องจากทำเลอยู่ถัดจากหัวมุมสี่แยก และอาคารยกสูงจากพื้นถนนมากเกินไป ทำให้พลังงานจากถนนที่รถวิ่งผ่านมาเข้าสู่ประตูชั้นล่างอาคารไม่ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ห้างนี้ยังมีข้อดีมากจุดหนึ่งตรงมีลานโล่งที่เชื่อมระหว่างสยามเซ็นเตอร์ กับ สยามพารากอน ที่เป็นลานสะสมพลังงาน ทำให้เป็นทางเดินเข้าห้างที่มีผู้คนจำนวนมากจากสถานีรถไฟฟ้าสยามและห้างสยามพารากอน เรียกได้ว่าดึงกระแสพลังงานมาได้มากด้วยเช่นกัน ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ห้างสยามเซ็นเตอร์มีฮวงจุ้ยที่ดี

ภาพแสดงห้างสยามเซ็นเตอร์ที่ยกพื้นสูงจากถนนมาก
ที่มาภาพ​ : shutterstock


Siam Square

บริเวณนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดที่มีฮวงจุ้ยดีอย่างหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่ราบต่ำในบริเวณที่ล้อมไปด้วยตึกสูง จึงทำให้พลังงานสะสมได้ดี โดยหากยิ่งเทียบกับด้านสยามดิสคัฟเวอรี่และสยามเซ็นเตอร์ที่ทำบันไดยกสูงจากแนวถนนที่ทำให้พลังงานจากรถที่วิ่งเข้าสู่ 2 ห้างนี้ยากแล้ว การทำบันไดยกสูงของห้างสยามดิสคัฟเวอรี่กับสยามเซ็นเตอร์ เป็นเหมือนสโลป (Slope) เทพลังงานให้ไหลกลับเข้าหาด้านสยามสแควร์

นอกจากนี้ ร้านค้าของบริเวณสยามสแควร์ไม่ได้ยกสูงจากถนนมากนัก ทำให้พลังงานเข้าร้านได้ง่ายเป็นพิเศษ แถมพื้นที่นี้มีถนนวิ่งตัดผ่านเป็นซอยๆ หลายซอย จึงทำให้พลังงานจากรถเข้าออกพื้นที่นี้ได้มากเป็นพิเศษ

ภาพแสดงตำแหน่งห้างสยามเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นอาคารขนาดเตี้ยในบริเวณที่ถูกล้อมด้วยอาคารสูง
ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA


หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นทำเลหัวมุมของสี่แยกปทุมวัน เรียกว่าทำเลนั้นดีในระดับหนึ่งเพราะอยู่บริเวณสี่แยก และใกล้สถานีรถไฟฟ้า จึงทำให้มีกระแสพลังงานเยอะ แต่มีการออกแบบไม่สอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ยทำให้รับพลังงานได้ยาก เนื่องจากประตูทางเข้านั้นหลบมุมและมีหลังคากันสาดกดต่ำทำให้พลังงานเข้าถึงได้ยาก นอกจากนี้ยังโดนรางรถไฟฟ้าที่เหมือนคานดักกระแสพลังงานจากรถที่วิ่งมาจากสามย่านไปทางราชเทวีไม่ให้ผ่านไปได้ ส่งผลให้ได้รับกระแสพลังงานนั้นตีกลับไปด้านมาบุญครองไปบางส่วน

ภาพตำแหน่งประตูของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่เป็นจุดรับพลังงานและมีหลังคากันสาดกดต่ำทำให้พลังเข้าอาคารได้ยาก
ที่มาภาพ : shutterstock


Siam Paragon

ทำเลนี้เรียกได้ว่าสู้มาบุญครอง สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เลย เนื่องจากไม่ได้อยู่ติดสี่แยกโดยตรง หรือไม่ใช่หัวมุมของสี่แยกนั่นเอง ซึ่งทำเลสี่แยกนั้นมีโอกาสได้รับพลังงานได้มากกว่าทำเลของห้างสยามพารากอนแน่นอน เพราะอย่างน้อยทำเลหัวมุมสี่แยกก็สามารถทำทางเข้าออกได้ 2 ด้านถนน ส่งผลให้กระแสพลังงานไหลเข้า-ออกได้ดีกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ตามห้างสยามพารากอนเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดแห่งการออกแบบที่มีฮวงจุ้ยดีมาก จึงส่งผลให้เจริญรุ่งเรือง โดยมีหลักพิจาณาจุดที่ดีดังนี้

  1. การวางอาคารของห้างไม่ขนานไปกับถนน โดยปกติแล้วสถาปนิกจะต้องวางอาคารให้ขนานถนนเพื่อให้ใช้พื้นที่ได้มากที่สุด โดยเฉพาะที่ดินที่มีราคาแพงในเมือง แต่ห้างนี้วางอาคารเอียงจากถนน โดยเอียงให้ห้างหันหน้าเข้าหารถและรถไฟฟ้าที่วิ่งมาจากด้านสี่แยกปทุมวันเพื่อให้รับพลังงานได้มากขึ้น และทำให้พลังงานไหลผ่านห้างได้ยากขึ้นนั้นเอง เรียกได้ว่ารับพลังมาก แต่เสียพลังน้อย

    ภาพอาคารสยามพารากอนที่วางอาคารด้านหน้าเอียงจากถนน
    ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

       
  2. การออกแบบให้ห้างเก็บพลังงานจากรถไฟฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากห้างสร้างเสร็จหลังรถไฟฟ้า จึงทำการออกแบบให้ห้างนี้เก็บพลังงานจากรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นหลัก มากกว่าจะเก็บพลังงานที่มาจากถนน โดยทำทางเข้าหลักของห้างเป็นประตูที่เชื่อมต่อทางเดินจากสถานีรถไฟฟ้าซึ่งเป็นประตูทางเข้าที่มีขนาดใหญ่ และมีลานโล่งกว้างใหญ่หน้าประตู โดยลานโล่งนี้ช่วยสะสมกระแสพลังงานที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่านมา และยังสะสมพลังงานจากผู้คนที่เดินมาจากสถานีรถไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งในความเป็นจริง จำนวนคนที่มาห้างนี้จากรถไฟฟ้านั้นน่าจะเยอะว่าจำนวนคนที่ขับรถมาห้างนั่นเอง และคนเหล่านี้ก็จะเดินลากพลังงานบริเวณลานโล่งนี้เข้าสู่ประตูทางเข้าหลัก ส่วนการรับพลังงานจากถนนนั้นจะได้น้อยเพราะถนนที่รถวิ่งจากด้านสี่แยกปทุมวันไปด้านสี่แยกราชประสงค์มีแค่ 2 เลน จึงทำให้กระแสพลังงานไม่พอเพียง นอกจากนี้ลานโล่งหน้าประตูยังมีไว้สำหรับเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของห้าง ซึ่งทำให้มีคนจำนวนมากมาทำกิจกรรมบริเวณนี้ และช่วยกระจายพลังงานในลานโล่งนี้เข้าสู่ห้างได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

    ภาพลานโล่งบริเวณประตูทางเข้าห้างหลักของห้างสยามพารากอน
    ที่มาภาพ : shutterstock

  3. การออกแบบลานโล่งให้เป็นพื้นที่ต่ำกว่าสถานีรถไฟฟ้า ทำให้พลังงานจากสถานีรถไฟฟ้าไหลลงมาสู่ลานโล่ง บริเวณทางเข้าห้างได้ง่าย เนื่องจากกระแสพลังงานจะไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าเสมอ

    ภาพแสดงตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงกว่าลานโล่งหน้าทางเข้าห้างสยามพารากอน
    ที่มาภาพ : shutterstock
         
  4. การออกแบบน้ำพุกระตุ้นพลังงานบริเวณลานโล่ง เมื่อเปิดน้ำพุจะทำให้อากาศบริเวณน้ำพุกระจายตัวเข้าประตูห้างได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้น้ำพุยังถูกออกแบบให้ไม่มีขอบบ่อ เพราะเมื่อปิดน้ำพุก็เหมือนเป็นลานโล่งสะสมพลัง แต่เมื่อเปิดน้ำพุก็เป็นสิ่งกระตุ้นช่วยกระจายพลังงาน

    ภาพน้ำพุบริเวณหน้าประตูทางเข้าสยามพารากอน
    ที่มาภาพ : shutterstock

  5. การออกแบบทางเดินลงจากลานโล่งสู่ชั้น 1 เนื่องจากบริเวณชั้นล่าง (ประตูชั้น 1) ไม่สามารถรับพลังงานจากรถได้เพียงพอ เนื่องจากรถที่ติดบริเวณหน้าห้างทำให้พลังงานไหลเวียนไม่ดีพอ ประกอบกับหน้าห้างมีถนนเพียง 2 เลนสำหรับรถที่วิ่งจากสี่แยกปทุมวันไปสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งถือว่ามีจำนวนเลนน้อยเกินไป ทำให้พลังงานเข้าห้างที่สร้างมาเอียงจากแนวถนนแบบนี้ได้ยาก ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้มีการดึงพลังงานจากลานโล่งด้านบน (ประตูหลักที่เข้าจากสถานีรถไฟฟ้า) โดยใช้น้ำตกและทางเดินลงจากลานโล่งมาที่ประตูชั้น 1 เพื่อดึงพลังงานจากจุดสะสมพลังงานหลักของห้างมาเข้าประตูชั้น 1 จึงทำให้พลังงานเข้าสู่ห้างได้เยอะขึ้นอีกจุดนั้นเอง

    ภาพน้ำตกและทางเดินลดระดับจากลานโล่งลงมาเชื่อมกับประตูทางเข้าห้างชั้นล่างที่ติดถนน
    ที่มาภาพ : shutterstock

  6. มีการออกแบบประตูทางเข้า เป็นทรงโค้ง และตัวอักษรชื่อห้างเป็นสีทอง แทนพลังธาตุทอง และใช้กระจกหักมุมตรงประตูทางเข้าในลักษณะแหลมเหลี่ยมเพชร แทนธาตุไฟ โดยในทางภูมิปัญญาจีนเราสามารถอ่านค่าได้เหมือน ทองที่ถูกไฟส่องให้เฉิดฉาย สวยงาม และล้ำค่า จึงส่งผลให้ห้างนี้สามารถขายของได้มีราคาสูงนั่นเอง

    ภาพประตูทางเข้าหลักของห้างสยามพารากอน โดยออกแบบให้มีความโค้งตรงโถงทางเข้า และยังมีหลังคาโค้งซึ่งแทนธาตุทอง รวมถึงสีหลังคาและตัวอักษรชื่อห้างก็เป็นสีทอง ส่วนบริเวณกระจกโค้งทำจากกระจกหักมุมให้เป็นทรงแหลมผสมอยู่ เปรียบเหมือนธาตุไฟ
    ที่มาภาพ : shutterstock

Related Posts

ตามช่วงเวลา