ที่มาภาพ : shutterstock

วิชาฮวงจุ้ย (Feng Shui) มีความสัมพันธ์กับเรื่องลมโดยตรง คำว่า”ฮวง” แปลว่า ลม ส่วนคำว่า ”จุ้ย” แปลว่า น้ำ โดยเคล็ดวิชาได้กล่าวว่า ลมนำพาพลัง และน้ำสะสมพลัง และหากทำความเข้าใจจริงๆ แล้ว ฮวงจุ้ยก็คือการบริหารพลังงานของไหล ซึ่งทางหลักวิศวกรรม ของที่ไหลได้ในโลกมีแค่ลมกับน้ำเท่านั้น

โดยหลักการจะต้องบริหารของไหล (ลมหรือน้ำ) ที่นำพลังที่ดี ให้เข้ามาสู่อาคารนั้นๆ และนำพลังงานไม่ดีออกจากอาคารนั้นๆ ดังนั้นการเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องลมอย่างลึกซึ้งก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวิชาฮวงจุ้ยได้ดียิ่งขึ้น 

หลักการของการเกิดลม คือ การเคลื่อนตัวของอากาศที่เกิดจากอุณหภูมิที่แตกต่างกันและความกดอากาศที่แตกต่างกัน โดยลมจะพัดจากบริเวณพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าหรือความกดอากาศสูงกว่า ไปหาพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าหรือความกดอากาศต่ำกว่า

โดยอากาศที่ได้รับความร้อนจะขยายตัว ทำให้มีความหนาแน่นลดลงและลอยตัวสูงขึ้น ดังนั้นอากาศที่อยู่ในแนวราบบริเวณที่ได้รับความร้อนน้อยกว่าหรืออุณหภูมิต่ำกว่าจะเคลื่อนตัวในแนวราบมาแทนที่ ซึ่งอากาศที่เคลื่อนที่ในแนวราบขนานกับโลกก็คือลมนั่นเอง

ยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีอุณหภูมิและความกดอากาศแตกต่างกันชัดเจน คือบริเวณอากาศเหนือพื้นดินและเหนือพื้นน้ำทะเล โดยอากาศเหนือพื้นดินและน้ำทะเลจะได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ในปริมาณที่เท่ากัน แต่คุณสมบัติของดินและน้ำมีการสะสมและคายความร้อนแตกต่างกัน ซึ่งดินนั้นมีคุณสมบัติคายความร้อนได้ดีกว่าน้ำ ทำให้ในเวลากลางคืน อากาศเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าอากาศเหนือพื้นน้ำ จึงทำให้อากาศเหนือพื้นน้ำที่ร้อนกว่าลอยตัวสูงขึ้น และอากาศเหนือพื้นดินที่เย็นกว่าเคลื่อนตัวมาแทนที่ ดังนั้นลมจึงเคลื่อนตัวจากพื้นดินไปสู่พื้นน้ำในเวลากลางคืน หรือที่เราเรียกว่า “ลมบก”



ขณะที่เวลากลางวัน พื้นดินจะสะสมความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ จึงทำให้อากาศเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิที่สูงกว่าอากาศเหนือพื้นน้ำ ดังนั้นอากาศเหนือพื้นดินมีความร้อนสูงกว่า ขยายตัวและลอยตัวสูงขึ้น และอากาศเหนือพื้นน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจึงเคลื่อนตัวมาแทนที่ ดังนั้นลมจึงเคลื่อนตัวจากพื้นน้ำไปสู่พื้นดินในเวลากลางวัน หรือที่เราเรียกว่า “ลมทะเล”




สำหรับพื้นที่ที่อยู่ใกล้ทะเลหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กระแสลมจะเคลื่อนตัวจากแหล่งน้ำเข้าพื้นดิน หรือเคลื่อนที่ออกจากพื้นดินไปแหล่งน้ำเป็นหลัก ซึ่งลมมักจะไม่เคลื่อนที่ตามทิศทางลมของภูมิประเทศทั่วไป หรือที่เรียกว่าลมมรสุม

โดยทิศทางของลมในประเทศแต่ละประเทศนั้นจะเคลื่อนที่ตามทิศทางของลมมรสุมเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยเองนั้นก็มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนต่อปี ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน

และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว ระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน จะอยู่ในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายน ไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์

ซึ่งลมมรสุมเกิดจากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เนื่องจากปกติแกนโลกจะเอียง 23.5 องศา กับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งหมายถึงแกนโลกจะชี้ไปทิศทางเดียวเสมอ โดยแกนโลกด้านเหนือก็จะชี้ไปยังกลุ่มดาวเหนืออยู่ตลอดนั่นเอง ดังนั้นในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ แกนโลกจะเอียงด้านเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์เป็นบางเวลา และเอียงออกจากดวงอาทิตย์เป็นบางเวลา

ซึ่งการที่แกนโลกเอียงทำให้พื้นบนโลกในตำแหน่งเดียวกันแต่ละช่วงเวลาได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ต่างกัน เมื่อได้รับความร้อนต่างกัน อุณหภูมิก็จะแตกต่างกันในพื้นที่นั้นตามช่วงเวลาในแต่ละปี จึงเป็นสาเหตุให้เกิดทิศทางของลมและฤดูกาลต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นจากในช่วงฤดูร้อนในซีกโลกเหนือก็จะเป็นฤดูหนาวทางซีกโลกใต้ และขณะที่ช่วงฤดูหนาวในซีกโลกเหนือจะเป็นฤดูร้อนในซีกโลกใต้

ที่มาภาพ : shutterstock

ประเทศไทยนั้นอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร โดยพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไทยเป็นทะเลอันดามัน แต่เนื่องจากแกนโลกที่เอียง 23.5 องศา ขณะที่โลกโคจรเอียงแกนโลกทางด้านเหนือเข้าหาพระอาทิตย์ ประเทศไทยบริเวณส่วนพื้นดินจะได้รับความร้อนและแสงแดดจากพระอาทิตย์โดยตรงมากกว่าพื้นน้ำบริเวณทะเลอันดามัน ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูร้อน และเป็นช่วงมีกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน

เมื่อบริเวณพื้นดินได้รับความร้อนมากกว่า อากาศจะขยายตัวและลอยตัวสูงขึ้น จึงทำให้อากาศเหนือน้ำบริเวณทะเลอันดามันนั้นเคลื่อนตัวมาแทนที่จึงทำให้เกิดกระแสลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันมาสู่ไทย หรือที่เรียกว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นั่นเอง

ขณะที่เวลาโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และเอียงแกนโลกด้านทิศใต้เข้าหาพระอาทิตย์หรือเอียงแกนโลกทางทิศเหนือออกห่างพระอาทิตย์ จึงทำให้บริเวณทะเลอันดามันได้รับความร้อนจากพระอาทิตย์โดยตรงและมากกว่าพื้นแผ่นดินของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูหนาวและเป็นช่วงที่มีกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน เมื่ออากาศบริเวณทะเลอันดามันได้รับความร้อนและขยายตัวลอยตัวสูงขึ้นจึงทำให้อากาศจากพื้นแผ่นดินประเทศไทยเคลื่อนตัวไปแทนที่ กลายเป็นกระแสลมที่พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากพื้นดินบริเวณประเทศจีนไปสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้บริเวณทะเลอันดามันหรือที่เรียกกันว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาพจำลอง แสดงกระแสลมในช่วงฤดูหนาว-ฤดูร้อน


หลังจากเรารู้ที่มาของการเกิดลมและทิศทางของลมในประเทศไทยแล้ว เราควรออกแบบบ้านให้รับกระแสลมธรรมชาติ เพราะโดยหลักวิชาฮวงจุ้ยนั้น ลมเป็นตัวนำพาพลัง ดังนั้นควรออกแบบบ้านให้รับกระแสลมมากสุด จึงควรให้หน้าบ้านหันไปทางทิศทางลมและควรมีประตูทางเข้าอยู่ในแนวทิศทางลม

หากไม่ใช่หน้าบ้าน เช่น ด้านข้างบ้าน หรือด้านหลังบ้าน ควรมีช่องให้ลมผ่าน เช่น ประตู หรือ หน้าต่าง ตามทางทิศของกระแสลมเป็นอย่างน้อย โดยกระแสลมทิศหลักที่ยาวนานที่สุดในช่วงเวลาต่อปีในประเทศไทยคือ กระแสลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ตามข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น

โดยบ้านหรืออาคารที่หันหน้าหรือมีช่องเปิดรับกระแสลมจากทางทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ก็จะได้รับอิทธิพลจากกระแสลมในทิศนี้มากที่สุด และหากพิจารณาตามทิศดังกล่าวแล้ว ทิศตะวันตกจะรับแดดมากช่วงบ่ายทำให้บ้านหรืออาคารที่หันหน้าทางทิศนี้ หรือที่มีช่องเปิดทางทิศนี้ได้รับความร้อนจากแดดมาก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจีนนั้นนิยมหันหน้าไปทางทิศใต้มากกว่าทิศตะวันตก

ส่วนกรณีบ้านทั่วไป หรือบ้านพักตากอากาศ หรืออาคารต่างๆ ที่อยู่บริเวณทะเล อาจไม่ต้องคำนึงกระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือมากนัก เนื่องจากบ้านและอาคารเหล่านี้จะได้รับอิทธิพลจากลมบก ลมทะเล ตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยทิศทางลมจะพัดจากพื้นน้ำมาสู่พื้นดินเสมอในเวลาช่วงกลางวัน ดังนั้นการมีบ้านและอาคารที่มีช่องลม เช่น ประตูทางเข้าหน้าบ้าน หรือหน้าต่างอยู่ด้านที่ติดทะเล ก็จะสามารถได้รับกระแสลมธรรมชาติในช่วงกลางวันได้ตลอด 

อย่างไรก็ตาม การที่มีบ้านและอาคารรับพลังงานจากกระแสลมเต็มที่ไม่ได้หมายความว่าจะเจริญรุ่งเรืองเสมอไป เช่นเดียวกับบ้านที่ไม่ได้หันหน้าหรือมีช่องลมรับกระแสลมแล้วจะบอกว่าไม่เจริญรุ่งเรือง

ซึ่งจริงๆ แล้วยังต้องพิจารณาหลักวิชาที่เกี่ยวกับองศาทิศทางของพลังต่างๆ เช่น วิชาเสวียนคงปวยแช หรือภาษาไทยเรียกกันว่าวิชาดาวเหิน (Flying Star) ที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ โดยมีหลักการคำนวณพลังดีและร้ายในแต่ละทิศจากการใช้หลักการโคจรของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ที่เป็น 2 ดาวเคราะห์ที่ใหญ่สุดในระบบสุริยะจักรวาลเป็นหลัก

ซึ่งหลักวิชาจะแบ่งทิศต่างๆ เป็นทิศย่อยๆ อีก เช่น ภายในทิศใต้อาจแบ่งเป็นทิศย่อยๆ หลายทิศ เป็นองศาต่างๆ โดยแต่ละองศาก็มีผลทางพลังงานดี-ร้ายต่างกัน ซึ่งหากบ้านหรืออาคารหันถูกองศาที่มีพลังดี ในทิศย่อยที่ดี และเปิดรับลมตามแนวลมมรสุม ก็เรียกได้มีโอกาสเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากลมนั้นพัดนำพาพลังที่ดีเข้ามาสะสมในบ้านหรืออาคารนั้นได้มาก ซึ่งยิ่งรับพลังที่ดีมากก็ส่งผลดีมาก

แต่ถ้าหากองศาในทิศย่อยนั้นเป็นพลังร้าย ลมก็จะนำพาพลังร้ายเข้าสู่บ้านได้มากเช่นกัน ดังนั้นการที่จะมีฮวงจุ้ยที่ดีสุดควรปรึกษาซินแสผู้มีประสบการณ์ เพื่อจะหันทิศทางบ้านหรืออาคารให้ถูกต้องตามองศาที่มีพลังดี และได้รับกระแสลมธรรมชาติตามทิศทางลมมรสุม ผ่านเข้ามาสะสมสู่บ้านหรืออาคารให้มากที่สุด ก็จะเจริญรุ่งเรืองอย่างสูง

จากที่กล่าวมาเป็นเพียงหลักการเลือกบ้านหรืออาคารให้ได้รับพลังงานสูงสุด ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะต้องคำนึงปัจจัยอื่นๆ ที่สอดคล้องกับแต่ละคนด้วย เช่น การหาความสัมพันธ์ของระบบธาตุต่างๆ จากดวงผู้อยู่อาศัยกับทิศทางของพลังงาน ฯลฯ เป็นต้น

Related Posts

ตามช่วงเวลา