ที่มาภาพ : Patrick Perkins / Unsplash

แสงแดดมีความสำคัญกับการออกแบบบ้านและอาคารเป็นอย่างมาก โดยแสงแดดจะเป็นตัวการนำความร้อนมาสู่บ้านอยู่เสมอ เช่น เวลาสาย ทิศตะวันออกของบ้านจะเป็นส่วนที่ร้อนสุดเพราะรับแดดมากสุด หรือช่วงเวลาบ่าย ทิศตะวันตกก็จะได้รับแดดมากที่สุด

นอกจากความร้อนจะเกี่ยวข้องกับแสงแดดแล้ว แสงยังเกี่ยวข้องกับความรู้สึก อารมณ์ของคนด้วย โดยสภาพบ้านที่มืดกับสว่างจะให้ความรู้สึกต่อคนต่างกัน เช่นเดียวกับภาพต่างๆ ที่ช่างภาพถ่าย โดยช่างถ่ายภาพทุกคนจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องแสงเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผลงานภาพที่ออกมาได้ความรู้สึกและอารมณ์ตรงตามความต้องการ 

แสงสว่างจะให้ความรู้สึกที่สดชื่น กระปรี้กระเปร่า สดใส และยังให้ความร้อน หากว่าตามหลักการของหยิน-หยางของศาสตร์จีน ความสว่างเป็นพลังหยาง ส่วนความมืดเป็นพลังหยิน ซึ่งหลักการของหยิน-หยางเบื้องต้นจะเป็นการเปรียบเทียบของสองสิ่งด้วยกัน โดยสิ่งหนึ่งจะเป็นหยางและอีกสิ่งจะเป็นหยิน 

สรรพสิ่งในโลกล้วนแล้วแต่มี 2 สิ่งประกอบกัน เช่น ทางชีวะมีเพศผู้กับเพศเมีย ทางเคมีบอกมีกรดก็ต้องมีด่าง คณิตศาสตร์มีบวกก็ต้องมีลบ แม่เหล็กมีขั้วบวกและขั้วลบ การเคลื่อนไหวกับการหยุดนิ่ง มีดีก็มีเลว มีก้าวหน้าก็มีเสื่อมถอย ฯลฯ

ซึ่งกับแสงนั้น ความสว่างก็จะเป็นพลังหยางที่เหมือนความเคลื่อนไหว กระปรี้กระเปร่า ส่วนความมืดนั้นเหมือนพลังหยินที่เหมือนกับความหยุดนิ่ง ซึมเซา ลึกลับ เสื่อมถอย นั่นเอง

บ้านไหนที่แสงสว่างไม่เพียงพอหรือบ้านมืด เรียกได้ว่ามีความเป็นหยินสูง ก็จะทำให้คนไม่ค่อยอยู่บ้าน สร้างความซึมเซา โดดเดี่ยว ให้ผู้อยู่อาศัย หากเป็นสถานที่ทำงานที่มืด ก็อาจจะทำให้คนรู้สึกไม่อยากทำงาน ขี้เกียจ ซึมเซาได้ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน

ขณะที่สถานที่บางแห่งเป็นหยินมากๆ เช่น มืด ทึบ ชื้น อับ ไม่มีอากาศไหลผ่าน เรียกว่าหยินสุดๆ นั้น อาจเป็นที่อยู่ของผี วิญญาณต่างๆ ได้ ซึ่งสถานที่ร้างต่างๆ ก็มีสภาพเป็นหยินสูงนั่นเอง

ในทางตรงข้าม หากบ้านมีแสงสว่างเพียงพอก็จะทำให้บ้านน่าอยู่มากขึ้น ผู้อยู่อาศัยก็จะกระปรี้กระเปร่า รวมถึงทำให้คนอยากอยู่อาศัยในบ้านนั้นมากขึ้นด้วย และหากเป็นสถานที่ทำงาน แสงเป็นพลังหยางที่กระตุ้นต่อจิตใจคนให้ทำงานได้ดี โดยทำให้คนทำงานมีความรู้สึกกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า ส่งผลที่ดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน

ที่มาภาพ : Bruce Mars / Unsplash

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบร่างกายมนุษย์กับหลักการหยิน-หยางแล้ว วัยเด็กของสิ่งมีชีวิตก็จะมีพลังงานหยางมากกว่าวัยชรา เพราะเด็กมีกำลังเคลื่อนไหว ยิ่งเป็นช่วงวัยรุ่นก็จะเป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแรงที่สุด ก็จะมีกำลังมากสุด ขณะเดียวกันเมื่อเวลาที่คนแก่ชรา ร่างกายคนก็จะเหี่ยวย่น กำลังเสื่อมถอยลงไปก็เรียกว่าเป็นหยิน ซี่งเมื่อคนตายแล้วก็คือสภาพหยินสูงสุดนั่นเอง

ดังนั้นสำหรับคนที่อายุมากหรือคนชราแล้วก็ควรจะได้รับพลังด้านหยางให้มากตามอายุด้วย เนื่องจากพลังหยางทำให้สดชื่นและกระปรี้กระเปร่าขึ้น ไม่ให้ห่อเหี่ยวตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งการใช้แสงเพิ่มพลังหยางให้ที่อยู่อาศัยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุหรือคนชราให้สภาพร่างกายดีขึ้นนั่นเอง

แสงนั้นมีอิทธิพลต่อมนุษย์ทั้งในเรื่องความร้อนและความรู้สึกเป็นอย่างมาก ดังนั้นการสร้างและออกแบบอาคารหรือบ้านให้มีแสงสว่างเพียงพอจึงเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแสงสว่างที่เราได้รับมากที่สุดในโลกก็คือแสงแดดหรือแสงสว่างจากดวงอาทิตย์นั่นเอง ดังนั้นการออกแบบและสร้างบ้านหรืออาคารให้สอดคล้องกับแสงจึงควรมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางของแสงแดดกันก่อน


หลายคนคิดว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกตรงๆ และตกที่ทิศตะวันตกตรงๆ และยังคิดว่าพระอาทิตย์ขึ้นเป็นแนวเส้นตรงจากทิศตะวันออกไปยังติดตะวันตกเสมอ

แท้จริงแล้วพระอาทิตย์ไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงอย่างนั้นเสมอ และจะมีไม่กี่วันในรอบปีที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในทิศตะวันออก และตกในทิศตะวันตกพอดี ส่วนใหญ่ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกเบี่ยงออกไปทางทิศเหนือและทิศใต้ด้วย

สาเหตุที่พระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นและลงตรงทิศตะวันออกและทิศตะวันตกพอดี เนื่องจากว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยที่ปกติแกนโลกจะเอียง 23.5 องศา กับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์

ภาพแสดงการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ โดยแกนโลกเอียง 23.5 องศา ทำให้พระอาทิตย์ไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรง
จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ทำให้แสงไม่ได้มาจากทางทิศตะวันออกและตะวันตกอย่างเดียว

ที่มาภาพ : shutterstock

ขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และแกนโลกทางเหนือจะเอนเข้าหาดวงอาทิตย์ ประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรจะได้รับแสงหรือความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยตรง จึงทำให้เป็นช่วงฤดูร้อนและทำให้เวลากลางวันยาวกว่าเวลากลางคืน โดยช่วงนี้พระอาทิตย์จะขึ้นและลงเบี่ยงไปทางทิศเหนือ โดยหากเรามองดูดวงอาทิตย์ จะเห็นว่าพระอาทิตย์โคจรจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกโดยจะอ้อมไปทางทิศเหนือ

ส่วนเมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และแกนโลกทางเหนือหันออกห่างดวงอาทิตย์ หรือแกนโลกทางใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรจะได้รับแสงและความสว่างจากดวงอาทิตย์น้อยกว่า จึงทำให้เป็นฤดูหนาว และยังทำให้ระยะเวลากลางวันสั้นลงและกลางคืนยาวขึ้น พระอาทิตย์จะขึ้นและลงเบี่ยงไปทางทิศใต้ โดยหากเรามองดูดวงอาทิตย์จะเห็นว่า โคจรจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกโดยจะอ้อมไปทางทิศใต้

แต่หากพิจารณาเฉพาะประเทศไทย ช่วงที่โลกโคจรเคลื่อนเอาขั้วโลกเหนือเอียงออกห่างพระอาทิตย์ (ช่วงปลายฤดูฝน ฤดูหนาว และช่วงต้นฤดูร้อน) จะทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้น-ลงหรือเคลื่อนที่เบี่ยงไปทางทิศใต้เหมือนกับประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรทั่วไป

แต่ขณะที่ช่วงที่โลกโคจรเคลื่อนเอาขั้วโลกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ (ช่วงฤดูร้อนไปจึงถึงช่วงต้นฤดูฝน) จะทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้น-ลง หรือเคลื่อนที่บนท้องฟ้าอยู่บริเวณตรงกลางจากทิศตะวันออกไปตะวันตกพอดี และทำให้เกิดแสงแดดอยู่ตรงหัวเราค่อนข้างพอดีอีกด้วย ซึ่งต่างจากประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรทั่วไปที่พระอาทิตย์เคลื่อนที่เบี่ยงไปทางเหนือ

โดยสาเหตุที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่จากทิศตะวันออกไปตะวันตกพอดีนั้นเนื่องจากประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งเหนือเส้นศูนย์ขึ้นไปไม่มากพอ แต่หากเป็นประเทศที่อยู่เหนือประเทศไทยขึ้นไป หรือเหนือเส้นศูนย์สูตรมากพอระดับหนึ่งแล้ว พระอาทิตย์ก็จะเคลื่อนที่เบี่ยงไปทางทิศเหนือนั่นเอง

สาเหตุจากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยที่ปกติแกนโลกจะเอียง 23.5 องศา กับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้คนในประเทศไทยเห็นดวงอาทิตย์บนฟ้าตรงหัวช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน และเคลื่อนที่เบี่ยงไปทางทิศใต้ช่วงปลายฤดูฝน ฤดูหนาว และช่วงต้นฤดูร้อน จึงทำให้แสงแดดที่มาจากทิศเหนือน้อยกว่าทางทิศใต้นั่นเอง ดังนั้นการสร้างบ้านให้หน้าบ้านหันไปทางทิศใต้ก็จะมีโอกาสรับแสงแดดตลอดวันหากเทียบกับทิศอื่น โดยเฉพาะหากเทียบกับทิศเหนือที่แทบไม่ได้รับแสงแดดเลย

ส่วนการสร้างบ้านหันไปทางทิศตะวันออกกับตะวันตกก็จะรับแดดประมาณครึ่งหนึ่งของเวลากลางวัน ส่วนกรณีห้องนั่งเล่นที่มักอยู่ทิศหน้าบ้านซึ่งหากหันไปตามทิศทางแต่ละทิศก็จะได้รับแสงแดดไม่เท่ากัน ความหมายคือได้รับความร้อนและความรู้สึกจากแสงต่างๆ นั่นเอง

ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงหลักสถาปัตยกรรมในการรับแสงแต่ละทิศเพื่อลดความร้อนจากแสงแดดที่มาสู่บ้านและอาคารควบคู่กับการใช้แสงสว่างให้เพียงพอให้มีผลต่อความรู้สึกของคน

ภาพแผนที่โลก โดยประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งเหนือเส้นศูนย์สูตร

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิปัญญาจีน

  • วันที่ 21-22 มิถุนายน เป็นวันที่แกนโลกทางทิศเหนือชี้เข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุด ดังนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้น-ลงหรือเคลื่อนตัวบนท้องฟ้าเบี่ยงไปทางทิศเหนือมากที่สุด หรือที่เรียกว่า อุตตรายัน (Summer Solstice) ซึ่งทางภูมิปัญญาจีนเรียกวันนี้ว่าเป็นวันที่มีพลังหยางสูงสุด หรือเป็นวันที่ร้อนที่สุดในฤดูธาตุไฟ (ฤดูธาตุไฟ คือ เดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม หรือช่วงฤดูร้อน)
  • วันที่ 21-22 ธันวาคม เป็นวันที่แกนโลกทางทิศใต้ชี้เข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุด ดังนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้น-ลงหรือเคลื่อนตัวบนท้องฟ้าเบี่ยงไปทางทิศใต้มากที่สุด หรือที่เรียกว่า ทักษิณายัน (Winter Solstice) ซึ่งทางภูมิปัญญาจีนเรียกวันนี้ว่าเป็นวันที่มีพลังหยินสูงสุด หรือเป็นวันที่เย็นที่สุดในฤดูธาตุน้ำ (ฤดูธาตุน้ำ คือ เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม หรือช่วงฤดูหนาว) วันนี้ยังเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบจีนในศาสตร์ตังจี่ด้วย เนื่องจากเป็นช่วงที่หยินสูงสุดของปี ซึ่งก็จะเหมือนกับหลักการเปลี่ยนวันทางสากลทั่วไป ซึ่งเปลี่ยนในเวลาเที่ยงคืนตรง ซึ่งเที่ยงคืนก็คือช่วงอากาศเย็นสุดหรือหยินที่สุดนั้นเอง
  • วันที่ 21-22 มีนาคม เรียกว่า วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) โดยวันนี้จะเป็นวันที่พลังธาตุไม้ของฤดูกาลธาตุไม้มีกำลังสูงสุด (ฤดูธาตุไม้ คือ เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน หรือช่วงฤดูใบไม้ผลิ)
  • วันที่ 21-22 กันยายน เรียกว่า ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) โดยวันนี้จะเป็นวันที่พลังธาตุทองของฤดูกาลธาตุทองมีกำลังสูงสุด (ฤดูธาตุทอง คือ เดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม หรือช่วงฤดูใบไม้ร่วง)
  • วันที่ 21-22 มีนาคม และวันที่ 21-22 กันยายน จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและลงตรงกับทิศตะวันออกและตะวันตกพอดี เนื่องจากแกนโลกทิศเหนือกับทิศใต้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เท่ากันพอดี ทำให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน และทำให้ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เท่ากัน หรือเรียกว่าวิษุวัต (Equinox)

    หมายเหตุ : ข้อมูลนี้สำหรับประเทศเหนือเส้นศูนย์สูตรเท่านั้น

ภาพแสดงประเทศเหนือเส้นศูนย์สูตรจะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรงที่สุดในช่วงวันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปี
จึงเป็นฤดูร้อนของประเทศเหนือเส้นศูนย์ในช่วงนี้ ขณะที่ประเทศใต้เส้นศูนย์สูตรจะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรงที่สุด
ในช่วงวันที่ 21 ธันวาคม ของทุกปีจึงเป็นฤดูร้อนของประเทศใต้เส้นศูนย์สูตรในช่วงนี้

ตามช่วงเวลา