ที่มาภาพ : shutterstock
ถนนสีลม เป็นถนนสายธุรกิจเส้นสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งมีอาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า และร้านค้าย่อย อยู่สองฝั่งถนน ซึ่งถนนแห่งนี้เป็นถนนเส้นที่มีความเจริญและมีชื่อเสียงมาก จึงทำให้มีบริษัทจำนวนมากต้องการมีสำนักงานอยู่ในทำเลแห่งนี้ และความรุ่งเรืองของถนนสีลมนั้นไม่ได้มีแค่ช่วงเวลากลางวันอย่างเดียว เพราะในช่วงกลางคืน ถนนเส้นนี้ก็ยังเป็นแหล่งธุรกิจสร้างความบันเทิงและแหล่งขายสินค้าต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
สำหรับการพิจารณาฮวงจุ้ยของทำเลต่างๆ เราจะพิจารณาจากการที่ทำเลนั้นๆ มีแหล่งจ่ายกระแสพลังงานเข้ามามากน้อยเพียงใด และมีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ทำเลนั้นรับพลังงานได้มากหรือน้อย และช่วยเก็บกักพลังงานนั้นๆ หรือไม่ สำหรับทำเลสีลมมีหลักพิจารณาดังนี้
สวนลุม แหล่งจ่ายและสะสมพลังงานให้ทำเลสีลม
สวนลุมพินี จัดเป็นแหล่งสะสมพลังงานขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากสวนที่อยู่ในเมืองจะเป็นจุดแนวราบต่ำกว่าตึกอาคารสูงในเมือง เนื่องจากศาสตร์ฮวงจุ้ยอาศัยหลักการนำพาพลังงานจากลมหรือน้ำ (ซึ่งคำว่า ฮวง แปลว่า ลม ส่วนคำว่า จุ้ย แปลว่า น้ำ) โดยลมและน้ำจัดเป็นของไหลที่ธรรมชาติสร้างขึ้น เมื่อเกิดการไหลจากจุดหนึ่งก็จะนำพาพลังงานไปสู่อีกจุดหนึ่งได้ และของไหลก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ จึงทำให้พลังงานไปสะสมอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำ ซึ่งพื้นที่ต่ำในเมืองก็คือพื้นที่สวนซึ่งต่ำกว่าตึกสูงรอบๆ จึงเรียกได้ว่าสวนนั้นช่วยสะสมพลังงานได้
ภาพทำเลสีลม ใกล้สวนลุมพินี
หากพิจารณาดูถึงพื้นที่ของสวนลุมพินีจะพบว่ามีพื้นที่เป็นบ่อน้ำจำนวนมาก หรือประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งบริเวณบ่อน้ำคือตำแหน่งที่ของไหลไหลไปสู่จุดต่ำสุดและไม่สามารถไหลไปที่ไหนต่อได้อีกแล้ว หรือเรียกได้ว่าตำแหน่งบ่อน้ำนี้ช่วยยืนยันได้ว่าพลังงานนั้นไม่สามารถไหลไปสะสมที่อื่นที่ต่ำกว่าได้อีกแล้ว
เมื่อสวนคือแหล่งสะสมพลังงานในพื้นที่เมืองแล้ว การที่รถยนต์และรถไฟฟ้าวิ่งผ่านสวนลุมพินีก็จะลากพลังงานที่ถูกสะสมไว้ในสวนบางส่วนกระจายไปสู่ทำเลอื่น รวมถึงถนนสีลมด้วย
ภาพพื้นที่สวนลุมพินี ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนของบ่อน้ำอยู่ประมาณ
1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของพื้นที่สวนทั้งหมด
แหล่งจ่ายกระแสพลังงานเข้าสู่ถนนสีลม
- ถนนราชดำริ เมื่อรถยนต์ที่วิ่งมาจากถนนเส้นราชดำริวิ่งผ่านสวนลุม ก็จะดึงพลังงานที่สะสมในสวนลุมพินีเข้าสู่ถนนสีลม
ภาพแสดงพลังงานที่เข้าสู่ถนนสีลม จากการเคลื่อนไหวของรถยนต์จากถนนราชดำริ
- ถนนพระราม 4 เช่นเดียวกับถนนราชดำริ เมื่อรถวิ่งมาจากถนนพระราม 4 มุ่งหน้าไปทางหัวลำโพง รถยนต์ก็จะลากพลังงานที่สะสมในสวนลุมเข้าสู่ถนนสีลม โดยมีจุดที่น่าสนใจเพิ่มดังนี้
- โรงแรมดุสิตธานี ที่เว้นระยะถอยจากแนวถนนพระราม 4 เยอะ จึงทำให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นลานโล่ง ให้พลังงานที่มาจากรถทางถนนพระราม 4 เข้าสู่ถนนสีลมได้ง่าย และอาคารอีกด้านก็ช่วยกักพลังงานไม่ให้ไหลออกอีกด้วย
- สี่แยกศาลาแดง จะมีทางสะพานข้ามสี่แยกทำให้รถบางส่วนที่วิ่งข้ามสะพานช่วยดึงพลังงานข้ามทางเข้าถนนสีลม แต่เนื่องจากสี่แยกนี้มีแนวรางรถไฟฟ้าที่วิ่งจากถนนราชดำริมาถนนสีลม ซึ่งอยู่เหนือระดับสะพานข้ามแยกจึงทำให้พลังงานที่รถยนต์วิ่งบนสะพานบางส่วนนั้นปะทะกับแนวรางรถไฟฟ้าที่อยู่เหนือกว่า ทำให้พลังงานส่วนนี้ไม่สามารถถูกนำพาออกจากสี่แยกนี้ได้นั่นเอง จึงทำให้บริเวณสี่แยกช่วงต้นถนนของสีลมนั้นมีพลังงานมาก
- แนวถนนสีลม การตัดกันของถนนสีลมกับถนนราชดำริเป็นลักษณะมุมป้าน ทำให้พลังไหลเวียนเข้าไปทั่วถนนสีลมได้ง่ายขึ้น
- แนวรถไฟฟ้า BTS เมื่อรถไฟฟ้าวิ่งผ่านสวนลุมพินีก็จะดึงพลังงานที่สะสมในสวนให้เข้าสู่ถนนสีลมได้
ภาพแสดงพลังงานถนนสีลมที่ได้รับมาจากถนนราชดำริ โดยการเคลื่อนไหวของรถไฟฟ้า
ที่มาภาพ : shutterstock - Skywalk ที่เชื่อมต่อ BTS กับ MRT เมื่อมี Skywalk ก็ทำให้มีคนเดินผ่านบริเวณสีลมเป็นจำนวนมาก โดยการเคลื่อนไหวของคนก็สามารถลากกระแสพลังงานได้ด้วย จึงส่งผลให้ทำเลสีลมได้รับพลังงานในส่วนนี้เพิ่มเติมไปอีก
ภาพแสดงถนนสีลม ที่มีถนนสำหรับรถวิ่ง รางรถไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้า
และ Skywalk ที่มีคนเดิน เป็นสิ่งเคลื่อนไหวที่ช่วยกระจายพลังงานให้ถนนสีลม
ที่มาภาพ : shutterstock
สรุปโดยรวม ถนนสีลมมีแหล่งจ่ายพลังงานหลายจุด หากพิจารณาตลอดเส้นทางถนนสีลม ก็จะมีถนนเป็นแนวนำกระแสพลังงานระดับล่างสุด ส่วนทางเดิน Skywalk ก็จะเป็นแนวนำพาพลังงานช่วงกลาง และรถไฟฟ้าก็จะเป็นแนวลากพลังงานด้านบนสุดอีกที ซึ่งแต่จุดที่นำพาพลังงานมานั้นเรียกว่าพากระแสพลังงานมาได้มากอีกด้วย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมทำเลสีลมถึงเจริญขนาดนี้
สิ่งช่วยกักเก็บพลังงาน
สิ่งที่ช่วยกักเก็บพลังงานให้ถนนสีลม ก็คือทางด่วนขั้นที่ 2 ที่กั้นพลังงานจากรถที่วิ่งมาจากแยกศาลาแดงไม่ให้ข้ามไปจนถึงถนนเจริญกรุง โดยพลังงานที่รถวิ่งลากผ่านจากเส้นสีลม เมื่อลอดใต้สะพานทางด่วน อากาศที่เคลื่อนที่เหนือรถยนต์หรือพลังงานส่วนนี้จะถูกสะพานทางด่วนกั้นไว้ทำให้พลังงานถูกเก็บกักไว้ในถนนเส้นนี้
ภาพแสดงทางด่วนขั้นที่ 2 ที่ตัดพลังงานจากถนนสีลมไม่ให้เข้าสู่ถนนเจริญกรุง
จึงเสมือนช่วยเก็บกักพลังงานให้ถนนสีลมนั้นเอง
ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA
จุดที่ทำให้สูญเสียพลังงาน
พลังงานที่เข้ามาจากถนนสีลมสูญเสียไปจุดใหญ่จุดหนึ่ง คือ บริเวณแยกถนนนราธิวาสราชนครินทร์ตัดผ่านถนนสีลม ทำให้สูญเสียพลังงานที่เข้ามาจากด้านแยกศาลาแดงไป นอกจากนี้เส้นทางรถไฟฟ้าก็ยังเปลี่ยนแนวการวิ่งจากเส้นถนนสีลมไปยังถนนนราธิวาสราชนครินทร์อีกด้วย จึงทำให้เกิดการดึงพลังงานออกจากถนนสีลมไปเยอะมาก และเป็นการดึงพลังงานเข้าสู่ถนนสาทรบริเวณที่มีแนวรถไฟฟ้าแทน
หากสังเกตดู ถนนสีลมในช่วงแยกศาลาแดงไปจนถึงแยกถนนสีลมตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์จะเจริญมาก ส่วนบริเวณถนนสีลมที่เลยแยกที่ตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ไป จะเจริญน้อยกว่าเยอะ
ภาพแสดงตำแหน่งที่ถนนสีลมตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ทำให้สูญเสียพลังงานที่เข้ามาในถนนสีลมไป
ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA