FIN: ฮวงจุ้ยพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร

ที่มาภาพ : shutterstock

พื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง เป็นจุดที่ทำให้บรรยากาศของเมืองให้ดูร่มรื่น ผ่อนคลาย สวยงาม ลดความตึงเครียดจากการใช้ชีวิตในเมืองได้ นอกจากนี้ยังช่วยปรับคุณภาพของอากาศให้ดีขึ้นจากการที่ต้นไม้ช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มออกซิเจนออก ดูดซับมลพิษทางเสียง ฝุ่นละอองในอากาศ และช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนของเมือง รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ต่างๆได้อีกด้วย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สร้างคุณค่าให้เมืองเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนต้องการอยู่อาศัยหรือทำงานในสถานที่ใกล้พื้นที่สีเขียวเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ในเชิงหลังการของวิชาฮวงจุ้ยแล้ว พื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองนั้นยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถชี้วัดความเจริญในทำเลเหล่านั้นได้อีกด้วย

หลักการของฮวงจุ้ยจะดูว่าทำเลบริเวณไหนเป็นจุดที่มีกระแสพลังงานสะสมตัวรวมกัน ก็จะสามารถบอกได้ว่าทำเลนั้นมีโอกาสจะเจริญรุ่งเรืองได้มาก โดยจุดที่รวมตัวของกระแสพลังงานนั้น ซินแสบางคนก็เรียกจุดนั้นว่า หัวมังกร ส่วน ตัวมังกร คือแนวการไหลของกระแสพลังงานที่ไหลไปสะสมที่จุดหัว

ซึ่งในกรณีของพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองแล้ว เราสามารถพูดได้ว่าจุดที่เป็นพื้นที่สีเขียวที่โอบล้อมด้วยอาคารสูงโดยรอบเป็นทำเลของหัวมังกรก็ว่าได้ โดยพิจารณาจากหลักการไหลเวียนของพลังงาน

วิชาฮวงจุ้ยอาศัยหลักการของการไหลเวียนของพลังงานต่างๆ ซึ่งคำว่า ”ฮวง” แปลว่า ลม ส่วนคำว่า ”จุ้ย” แปลว่า น้ำ  โดยลมและน้ำเป็นเพียงแค่ของ 2 สิ่ง ที่มีการไหลได้ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา ดังนั้นแท้จริงแล้ววิชาฮวงจุ้ยก็คือวิชาการบริหารพลังงานของไหลได้นั่นเอง

เพราะเมื่อเกิดการไหลจากจุดหนึ่งก็คือการนำพาพลังงานจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง โดยกฎธรรมชาตินั้น ของไหลก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าเสมอ ตามกฎของแรงดึงดูด จึงเรียกได้ว่าพลังงานจะไหลไปสะสมอยู่ในบริเวณที่ราบต่ำกว่าเสมอ และเมื่อเกิดการสะสมของพลังงานที่มากในทำเลที่ราบต่ำแล้วก็เกิดการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองได้นั่นเอง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้พบเห็นได้จากพื้นที่ของเมืองหลวงและเมืองสำคัญในหลายๆ ประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่ราบต่ำและกรุงเทพมหานครก็จัดว่าเป็นหนึ่งในนั้นอีกด้วย

พื้นที่ของประเทศไทยนั้น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูง มีภูเขา ทำให้พลังงานไหลรวมมาสู่ที่ราบในส่วนของภาคกลาง และไหลลงมาสะสมตัวที่ต่ำสุดซึ่งก็คือบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งทำให้บริเวณกรุงเทพฯ เกิดการพัฒนาและเจริญที่สุดในประเทศ

แต่หากมองย่อยลงไปอีกว่าทำเลบริเวณไหนของกรุงเทพฯ เป็นทำเลที่เจริญที่สุด ก็จะต้องพิจารณาจากพื้นที่ราบต่ำที่สุดในกรุงเทพฯ อีกที

ซึ่งพื้นราบต่ำที่สุดก็คือพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ถูกโอบล้อมด้วยอาคารสูง โดยลักษณะของพื้นที่ในสวนสาธารณะสามารถแสดงได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีต่ำที่สุดได้จากการมีบ่อน้ำหรือทะเลสาบซึ่งเป็นที่เก็บกักน้ำซึ่งก็เป็นของไหลนั้นเอง

และการที่มีอาคารสูงล้อมรอบก็เสมือนกว่าอาคารนั้นเป็นที่ราบสูง ช่วยกักไม่ให้กระแสพลังงานไหลออกจากบริเวณพื้นที่สวนได้ง่ายนั้นเอง

ตัวอย่างทำเลพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันและอนาคต มีดังนี้
ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

1. สวนลุมพินี มีพื้นที่ 360 ไร่ ถูกโอบล้อมด้วยอาคารสูงมากมายที่อยู่บนถนนที่ติดกับสวน เช่น ถนนวิทยุ ถนนราชดำริ ถนนพระราม 4 ถนนสารสิน และเชื่อมกับต้นถนนสีลม ถนนสาทร จะสังเกตได้ว่าถนนที่ติดพื้นที่สวนหรือถนนที่มีจุดเชื่อมต่อกับสวนนั้นมีความเจริญสูงมาก

ที่มาภาพ : shutterstock

2. สวนเบญจกิติและสวนป่าเบญจกิติ เดิมเป็นแค่ส่วนเบญจกิติที่มีพื้นที่ 130 ไร่ แต่มีการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ในชื่อสวนป่าเบญจกิติอีก 320 ไร่ จึงรวมพื้นที่เป็น 450 ไร่ พื้นที่นี้ติดกับถนนรัชดาภิเษกซึ่งอีกฝั่งของถนนมีอาคารสูงเป็นจำนวนมาก และที่ดินด้านติดถนนพระราม 4 แต่ก่อนยังไม่มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้ไม่เกิดการซื้อขายที่ดินมาพัฒนาเป็นช่วงเวลาหลายปี แต่สุดท้ายที่ดินก็ถูกนำมาเช่าระยะยาวและพัฒนากลายเป็นอาคารสมัยใหม่ที่มีความเจริญอย่างสูงหลายอาคาร

ส่วนความเจริญของพื้นที่ใกล้ส่วนที่ได้รับกระแสพลังงานจากสวนนี้ชัดเจนสุดคือ บริเวณสี่แยกอโศก จุดตัดของถนนรัชดาภิเษกกับถนนสุขุมวิท ซึ่งปัจจุบันก็คือว่าเป็น CBD สำคัญจุดหนึ่งของกรุงเทพฯ

ที่มาภาพ : shutterstock

3. สมาคมราชกรีฑาสโมสรโปโลคลับ (อาร์บีเอสซี โปโลคลับ) เป็นสปอร์ตคอมเพล็กซ์ที่มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ประมาณ 80 ไร่ ใจกลางเมือง ตั้งอยู่บนถนนราชดำริที่มีอาคารสูงมากมายและใกล้สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งพื้นที่สีเขียวนี้ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมพลังงานให้บริเวณสี่แยกราชประสงค์เป็นแหล่งความเจริญด้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง

ที่มาภาพ : shutterstock

4. สวนเบญจสิริ พื้นที่ 29 ไร่ ตั้งอยู่ช่วงกลางของถนนสุขุมวิท แม้จะเป็นพื้นที่สีเขียวที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่สีเขียวอื่นๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นก็ตาม แต่ก็ถูกโอบล้อมด้วยอาคารสูง ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันพื้นที่รอบสวนแห่งนี้ก็ถูกพัฒนาจนมีชื่อเรียกทำเลนี้ใหม่ว่า EmDistrict ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า Emporium, EmQuartier และ EmSphere เป็นต้น

ที่มาภาพ : shutterstock

5. พื้นที่มักกะสัน 497 ไร่ พื้นที่นี้ปัจจุบันยังไม่ถูกพัฒนาเป็นสวนสาธารณะหรือลานโล่ง พื้นที่ยังเป็นต้นไม้ต้นหญ้าแน่นเต็มพื้นที่ทำให้กระแสพลังงานไม่สามารถสะสมตัวจึงยังไม่เข้าข่ายพื้นที่ส่วนในเมืองที่เป็นที่ราบต่ำที่ช่วยวัดความเจริญของพื้นที่ได้ชัดเจน ซึ่งหากในอนาคตมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้มีพื้นที่สวนขนาดใหญ่ ทำเลแห่งนี้ก็จะกลายเป็นจุดรวมความเจริญอีกจุดหนึ่งเช่นกัน

ที่มาภาพ : shutterstock

6. พื้นที่บริเวณสวนจตุจักร ที่ประกอบด้วยสวนขนาดใหญ่ 3 สวนรวมกัน คือ สวนจตุจักรพื้นที่ 100 ไร่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) 375 ไร่ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ 140 ไร่ รวมพื้นที่ 3 ส่วนนี้ 615 ไร่ เรียกว่าเป็นพื้นที่สวนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แล้ว

อย่างไรก็ตาม พื้นที่รอบสวนขนาดใหญ่แห่งนี้ไม่ได้เป็นที่ดินของเอกชนที่ถูกนำมาซื้อขายเพื่อพัฒนาให้เกิดความเจริญได้ จึงทำให้บริเวณนี้ไ่ม่ถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่สวนราบต่ำที่โอบล้อมด้วยอาคารสูงเหมือนพื้นที่สีเขียวหรือสวนต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จึงทำให้พื้นที่บริเวณสวนจตุจักรนั้นยังมีความเจริญน้อยกว่าพื้นที่สีเขียวตามข้อ 1-4 ทั้งที่มีขนาดพื้นที่สวนใหญ่กว่า

ที่มาภาพ : shutterstock

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ทางรัฐบาลมีแผนพัฒนาทำเลบางซื่อที่ติดกับพื้นที่บริเวณสวนจตุจักรให้กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศ และมีแผนการนำพื้นที่ขนาดใหญ่ 2,325 ไร่ ของรัฐบาลมาเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อมีส่วนรวมในการพัฒนาที่ดินรอบจตุจักรแห่งนี้ให้เกิดความเจริญยิ่งขึ้น

ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนเพื่อนำมาพัฒนาในจุดประสงค์ที่ต่างกันออกไป แต่โดยภาพรวมแล้วโครงสร้างที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ขนาดนี้จะต้องใช้อย่างน้อยเป็นหลัก 10 ปี ในการพัฒนาให้สมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากมีการพัฒนาได้ครบถ้วนตามแผนจริงแล้ว ทำเลบริเวณสวนจตุจักรนี้อาจจะเป็นแหล่งทำเลที่มีความเจริญสูงสุดแหน่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ก็ว่าได้

เนื่องจากทำเลนี้อาจกลายเป็นพื้นที่สวนที่มีอาคารโอบล้อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยทางชัยภูมิที่สำคัญในเชิงฮวงจุ้ย รวมถึงยังมีบางซื่อแกรนด์สเตชันหรือสถานีกลางบางซื่อที่มีเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางเมตร และ 26 ชานชาลารถไฟ รวมถึงเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอย่าง MRT, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟฟ้าสีแดงอ่อนและเข้มอีกด้วย

เรียกได้ว่าเป็นจุดรวมของกระแสพลังงานมาในเชิงของด้านฮวงจุ้ยเข้ามาสู่ทำเลแห่งนี้

ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

จากหลักการทางด้านฮวงจุ้ย พื้นที่สีเขียวที่ยิ่งถูกโอบล้อมโดยการสร้างอาคารสูงเพิ่มมากขึ้นก็จะยิ่งสามารถสะสมและเก็บกักกระแสพลังงานไว้ในบริเวณทำเลเหล่านั้นได้มาก ก็จะยิ่งทำให้เกิดการพัฒนาของทำเลเร็วขึ้น มูลค่าของที่ดินก็จะราคาขึ้นแพงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย และทำเลเหล่านี้จะเป็นทำเลแหล่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองไปตลอดกาล

Related Posts

ตามช่วงเวลา