FIN: อาคารที่โดดเด่นในย่านสีลม

ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาคารที่หันหน้าไปทางถนนสีลมแล้วเป็นทิศเหนือ เนื่องจากองศาทิศทางด้านนี้คำนวณทางฮวงจุ้ยแล้วเป็นทิศที่ดีมากทิศหนึ่งไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหนก็ตาม เช่น ตึกเซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์ อาคารสำนักงาน CP อาคารธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เป็นต้น

ส่วนอาคารอีกฝั่งที่หันหน้าด้านทิศใต้เข้าสู่ถนนสีลมนั้น คำนวณแล้วองศาทิศทางจะดีบ้างบางช่วงยุคสมัยเท่านั้น ซึ่งช่วงยุค พ.ศ. 2547-2566 นั้นยังไม่ถือว่าดีเท่าไร อาคารที่น่าสนใจด้านนี้ก็คือ อาคารธนิยะ เป็นต้น

  1. อาคารเซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์ มีจุดน่าสนใจ ดังนี้
    • อาคารตั้งอยู่ช่วงต้นสายถนนสีลม ทำให้รับพลังงานได้ดีกว่าอาคารในช่วงปลายถนนสีลม
    • มีสกายวอล์กเชื่อมกับอาคารทำให้กระแสพลังงานจากคนเดินบนสกายวอล์กเข้าถึงอาคารได้ง่าย
      ภาพสกายวอล์กเชื่อมเข้าสู่อาคารเซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์
      ที่มาภาพ : shutterstock
    • อาคารใกล้สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง ซึ่งสถานีรถไฟฟ้าเองก็เป็นจุดจ่ายพลังงานเพราะมีคนเดินจำนวนมากเข้าออกจากรถไฟฟ้า
    • ตึกมีชั้นใต้ดินที่มีช่องโล่งให้มองเห็นจากชั้นระดับถนนได้ และมีทางเดินลงชั้นใต้ดินจากด้านหน้าอาคาร จึงทำให้พลังงานจากคนเดินและรถวิ่งผ่านไหลลงไปเก็บกักที่บริเวณชั้นใต้ดินอาคารได้มาก
      ภาพด้านหน้าอาคารเซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์ ที่เป็นช่องโล่งให้พลังงานไหลลองไปสู่ชั้นใต้ดิน ทำให้พลังงานสะสมที่ห้างนี้ได้ดี
      ที่มาภาพ : shutterstock

  2. อาคารสำนักงาน CP มีจุดน่าสนใจ ดังนี้
    • หน้าอาคารตรงข้ามกับซอยพัฒน์พงศ์ ซึ่งเท่ากับว่าทำเลของตึกสำนักงานนี้ตรงกับทางสามแพร่งพอดี ทำให้สามารถรับพลังงานได้มาก เนื่องจากกระแสลมที่พัดมาจะถูกบีบอัดมาระหว่างช่องตึกของซอยพัฒน์พงศ์เข้ามาปะทะอาคารสำนักงานนี้เพียงแต่องศาทิศทางของอาคารนั้นอยู่ในองศาทิศทางที่ดี หรือทิศหน้าอาคารเป็นทิศโชคลาภ จึงทำให้พลังงานที่เข้ามายิ่งกระตุ้นให้เกิดโชคลาภที่ดีนั่นเอง  จริงๆ แล้วทางสามแพร่งไม่ได้ร้ายเสมอไป เพียงแต่ทำเลสามแพร่งนั้นได้รับพลังงานมากพิเศษเนื่องจากกระแสลมที่บีบอัดเข้ามาระหว่างช่องตึกที่เข้ามาปะทะ หรือเกิดจากแนวกระแสพลังงานรถยนต์ที่วิ่งเข้ามาปะทะกับอาคารนั่นเอง หากคำนวนองศาทิศทางตามหลักวิชาฮวงจุ้ยแล้วทางสามแพร่งอยู่ในทิศที่ดีก็ส่งผลดีได้มาก เพราะพลังงานเข้ามาเยอะนั้นก็กระตุ้นสิ่งดีๆ เยอะ แต่หากคำนวณองศาแล้วอยู่ในทิศร้ายก็ส่งผลร้ายรุนแรงเพราะพลังงานที่เข้ามาเยอะก็กระตุ้นสิ่งร้ายเยอะนั่นเอง
      ภาพฝั่งตรงข้ามอาคาร CP Tower ซึ่งเจอซอยพัฒน์พงศ์
    • อาคารเชื่อมต่อกับถนนสีลม โดยมีทางลงไปชั้นใต้ดินทำให้พลังงานไหลเข้าสู่ชั้นใต้ดินอาคารได้ง่าย
      ภาพอาคารด้านหน้า CP Tower ที่ยกสูงกว่าระดับถนนเยอะ พลังงานจึงเข้าถึงอาคารได้ยากขึ้น แต่ทั้งนี้อาคารได้ทำบันไดลงชั้นใต้ดินด้วยจึงทำให้พลังงานไหลลงสู่ชั้นใต้ดิน ส่งผลให้อาคาร CP tower นี้เก็บสะสมพลังงานได้ดี
      ที่มาภาพ : shutterstock

    • มีการออกแบบป้ายริมถนนช่วยดักกระแสพลังงานเข้าอาคารมากขึ้น
      ภาพป้ายอาคาร CP Tower ที่ช่วยดักกักกระแสพลังงาน
      ที่มาภาพ : shutterstock

  3. ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ มีจุดน่าสนใจดังนี้
    • ด้านหน้าอาคารมีลานโล่งขนาดใหญ่ เพราะอาคารสร้างถอยห่างจากแนวถนนมากจึงทำให้พลังงานสะสมบริเวณลานโล่งหน้าอาคารได้ดี
      ภาพอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพที่เว้นระยะอาคารจากแนวถนนเยอะมาก ทำให้เกิดลานโล่งให้พลังงานสะสมหน้าอาคาร
      ที่มาภาพ : shutterstock

    • มีอาคารข้างซอยละลายทรัพย์ที่เป็นตึกยื่นโผล่มาติดถนนมากกว่าแนวอาคารธนาคารที่ถอยร่นห่างจากถนน จึงทำให้ช่วยกักพลังงานบางส่วนไม่ให้ไหลผ่านจากตึกธนาคารกรุงเทพ
      ภาพแสดงอาคารที่มี 7-11 ข้างซอยละลายทรัพย์ ที่ช่วยดักกักกระแสพลังงานเข้าซอยละลายทรัพย์และยังเก็บกักพลังงานไว้หน้าอาคารธนาคารกรุงเทพ

      ภาพธนาคารกรุงเทพมองจากด้านบน
      ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

หมายเหตุ : แต่ละอาคารที่กล่าวมาอาจมีจุดที่น่าสนใจกว่าที่กล่าว หรือมีอาคารอื่นๆ ในถนนสายสีลมนี้ที่ดี เพียงแต่ผู้เขียนไม่ได้ลงรายละเอียดในการอธิบาย


ซอยที่โดดเด่นในเส้นสีลม

  1. ซอยละลายทรัพย์
    ซอยนี้ได้พลังงานมากเป็นพิเศษเนื่องจากปากซอยมีธนาคารกรุงเทพที่เว้นระยะห่างจากถนนมากทำให้เกิดลานโล่งขนาดใหญ่หน้าตึกธนาคาร จึงทำให้เมื่อรถวิ่งผ่านก็สามารถพาพลังงานทะลุผ่านลานโล่งหน้าธนาคารเข้าไปในซอยละลายทรัพย์ได้ง่าย ขณะที่อีกฝั่งของปากซอยตรงข้ามธนาคารกรุงเทพเป็นอาคารที่มี 7-11 เว้นห่างจากแนวถนนเป็นแนวปกติทั่วไปก็จะช่วยดักกักพลังงานจากที่รถวิ่งไม่ให้ไหลผ่านซอยนี้ไปได้นั่นเอง
    ภาพหน้าซอยละลายทรัพย์

  2. ซอยธนิยะ
    ซอยนี้ติดกับสถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดงทำให้เกิดการสัญจรโดยคนเดินบริเวณหน้าซอยนี้เยอะมาก ซึ่งการเดินของคนก็คือว่าเป็นการลากกระแสพลังงานได้ อีกสิ่งหนึ่งคือรถไฟฟ้าที่วิ่งมาก็จะลากพลังงานมาด้วย และรถไฟฟ้าจะต้องหยุดที่สถานีจึงทำให้พลังงานที่ลากมานั้นหยุดสะสมบริเวณหน้าซอยนี้
    ภาพหน้าซอยธนิยะที่มีสถานีรถไฟฟ้า
    ที่มาภาพ : ภาพแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (Base Map) รายละเอียดภาพ 2 เมตร สนับสนุนโดย GISTDA

  3. ซอยพัฒน์พงศ์
    ซอยนี้เป็นซอยตรงข้ามอาคารสำนักงาน CP บริเวณที่เป็นบันไดทางเดินขึ้นไปชั้น 1 ซึ่งสูงกว่าระดับถนนโดยบันไดนั้นมีลักษณะเป็น Slope เทพลังงานให้ไหลกลับเข้าหาซอยพัฒน์พงศ์ นอกจากนี้ซอยพัฒน์พงศ์ยังอยู่ตรงข้ามกับตำแหน่งทางออกของรถที่ออกจากอาคาร CP อีกด้วย ซึ่งเป็นทางเดินรถทางออกอย่างเดียว และเป็นจุดส่งพลังงานกลับมาด้านซอยพัฒน์พงศ์อีกด้วย
    ภาพฝั่งตรงข้ามซอยพัฒน์พงศ์ซึ่งเป็นอาคาร CP Tower ที่มีบันไดขึ้นชั้น 1 หลายขั้นเป็นเหมือน Slope เทพลังงานกลับไปด้านซอยพัฒน์พงศ์

Related Posts

ตามช่วงเวลา