ที่มาภาพ : shutterstock
ปฏิกิริยา 5 ธาตุ เกิดขึ้นจากหลักการอ้างอิงของชาวจีนที่เชื่อว่า สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราในโลกและจักรวาลสามารถแบ่งออกเป็น 5 ธาตุด้วยกัน คือ ธาตุดิน ธาตุทอง ธาตุน้ำ ธาตุไม้ ธาตุไฟ ซึ่งแต่ละธาตุจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่น
- บางธาตุก่อเกิดอีกธาตุ
- บางธาตุทำลายหรือควบคุมอีกธาตุ
- หรือ บางธาตุถ่ายเทกำลังของอีกธาตุ
ซึ่งความสัมพันธ์ทั้งหมดนี้ก็จะก่อเกิดเป็นวงจรขึ้นดังนี้
ภาพวงจรปฏิกิริยา 5 ธาตุ ซึ่งมีวงจรของการก่อเกิดและถ่ายพลังธาตุ
รวมถึงวงจรการพิฆาตพลังกันระหว่างธาตุ
ที่มาภาพ : Unsplash
วงจรก่อเกิดและถ่ายเท
- ธาตุดิน ก่อเกิดหรือถ่ายเทกำลังไปสู่ ธาตุทอง โดยหลักธรรมชาติทั่วไป แร่ธาตุโลหะจะเกิดการหมักตัวภายในดิน
- ธาตุทอง ก่อเกิดหรือถ่ายเทกำลังไปสู่ ธาตุน้ำ โดยแร่ธาตุโลหะนั้นสามารถถูกหลอมละลายเป็นของเหลวได้ นอกจากนี้เวลาที่อากาศเย็นจัด สิ่งของที่เป็นโลหะจะมีไอน้ำมาเกาะอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนว่าโลหะก่อเกิดน้ำ
- ธาตุน้ำ ก่อเกิดหรือถ่ายเทกำลังไปสู่ ธาตุไม้ โดยน้ำเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงต้นไม้ให้เติบโต
- ธาตุไม้ ก่อเกิดหรือถ่ายเทกำลังไปสู่ ธาตุไฟ โดยไม้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับไฟเสมอ
- ธาตุไฟ ก่อเกิดหรือถ่ายเทกำลังไปสู่ ธาตุดิน โดยไฟเมื่อเผาทุกสรรพสิ่งก็จะกลายเป็นเถ้าถ่าน เป็นผงกลับคืนสู่ดิน
หมายเหตุ : ธาตุที่เป็นธาตุก่อเกิดนั้นก็จะสูญเสียกำลังไปสู่ธาตุที่ถ่ายเท จึงทำให้ธาตุที่ถ่ายเทมีกำลังมากขึ้น ดังนั้นจึงเรียกคร่าวๆ ได้ว่า ธาตุก่อเกิดนั้นเหมือนธาตุที่เป็นแม่ และ ธาตุที่ถ่ายเทออกไปคือธาตุลูก ซึ่งคล้ายกับความเป็นจริงที่แม่นั้นต้องเสียแรงและเหน็ดเหนื่อยเพื่อจะทำให้ลูกนั้นเติบโตหรือมีกำลังมากขึ้น ดังนั้นเมื่อต้องการเพิ่มหรือลดทอนกำลังธาตุแต่ละธาตุก็สามารถใช้หลักการของวงจรก่อเกิดหรือถ่ายเทพลังงานนี้มาประยุกต์ใช้ได้ เช่น
- ต้องการให้ธาตุไฟแข็งแรงขึ้น ให้ใช้ธาตุไม้ที่เป็นธาตุก่อเกิดเป็นตัวเสริม
- หากต้องการให้ธาตุไฟกำลังลดลง ให้ใช้ธาตุดินที่เป็นธาตุถ่ายเทมาดูดกำลังธาตุไฟให้ลดลง
ทั้งนี้การเพิ่มหรือลดทอนกำลังของธาตุนั้นก็มีผลมากน้อยตามสัดส่วนพลังงานของแต่ละธาตุ โดยธาตุที่ถ่ายเทมีกำลังมากก็ดูดกำลังจากธาตุที่ก่อเกิดไปมากด้วยเช่นกัน
ภาพการควบคุมหรือพิฆาตระหว่างธาตุ
ที่มาภาพ : shutterstock
วงจรการควบคุมหรือพิฆาต
- ธาตุดินควบคุมธาตุน้ำ โดยทั่วไปคนที่ต้องการเก็บกักน้ำก็สามารถสร้างเขื่อนหรือขุดบ่อน้ำเพื่อควบคุมและเก็บกักน้ำให้ได้ปริมาณที่ต้องการ ดังนั้นธาตุดินจึงเป็นธาตุควบคุมธาตุน้ำ แต่หากว่าธาตุดินมากเกินไปก็สามารถพิฆาตธาตุน้ำได้ เปรียบเสมือนบ่อน้ำที่ถูกดินถมจนเต็ม ไม่หลงเหลือน้ำอยู่
- ธาตุน้ำควบคุมธาตุไฟ น้ำนั้นเป็นตัวควบคุมกำลังของไฟไม่ให้มากเกินไปได้ เหมือนการปรุงอาหารด้วยไฟในกระทะซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้น้ำใส่ในกระทะเพื่อปรุงอาหารให้รสชาติดีโดยใช้น้ำสัดส่วนที่เหมาะสม หรือธาตุน้ำมีสัดส่วนที่มากก็จะพิฆาตธาตุไฟ เปรียบเสมือนน้ำที่มาดับกองไฟ
- ธาตุไฟควบคุมธาตุทอง โลหะทุกประเภทเมื่อโดนความร้อนจะหลอมละลาย เช่น ไฟสามารถหลอมโลหะให้ได้รูปทรงสวยงามขึ้นอยู่กับการใช้ไฟในสัดส่วนเหมาะสม หากธาตุไฟมากเกินก็หลอมโลหะต่างๆ จนเป็นของเหลว
- ธาตุทองควบคุมธาตุไม้ ไม้ในที่นี้หมายถึงไม้ทุกประเภท ไม่ว่า ต้นไม้ ท่อนไม้ ซุง ไม้แปรรูป ดอกไม้ ฯลฯ ถูกโลหะ เช่น เลื่อย ขวาน มีด กรรไกร เครื่องจักร ฯลฯ นั้นตัดเป็นท่อนเสมอ ซึ่งหากโลหะตัดไม้ในสัดส่วนที่เหมาะสมก็จะทำให้การตัดตกแต่งต้นไม้นั้นมีความสวยงาม หรือชิ้นงานไม้ที่แปรรูปนั้นได้ขนาดสัดส่วนตามต้องการ แต่ถ้าสัดส่วนมากเกินไปก็กลายเป็นธาตุทองพิฆาตธาตุไม้ เช่นเดียวกับการใช้เลื่อยตัดต้นไม้นั้นจนเป็นชิ้นงานที่เสียหาย ใช้งานไม่ได้
- ธาตุไม้ควบคุมธาตุดิน ไม้นั้นสามารถควบคุมดินได้ เช่น การป้องกันดินบริเวณที่ลาดชันไม่ให้ทลาย โดยการปลูกหญ้าแฝกคลุมดินหรือไม่ก็ใช้ใยปาล์ม หรือใยมะพร้าวที่สานเป็นผ้าห่มคลุมดินป้องกันดินทลายได้ แต่ถ้าหากธาตุไม้มีสัดส่วนที่มากเกินไปก็กลายเป็นธาตุไม้ทำลายพิฆาตธาตุดิน เสมือนต้นไม้ที่ดูดซึมแร่ธาตุจากดินไปจนหมดจนดินนั้นเสียสภาพ
หมายเหตุ : หลักการของวงจรควบคุมและพิฆาตของธาตุนั้นจะส่งผลดีหรือร้ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ สัดส่วนของธาตุที่มาควบคุมพิฆาต กับ ธาตุที่ถูกพิฆาต ซึ่งสัดส่วนกำลังธาตุนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญของหลักปฏิกิริยา 5 ธาตุด้วย